ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ Interdisciplinary Research Center for Scientific Computing (IWR) มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก สหพันธรัฐเยอรมนี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติคณิตศาสตร์คณนาและวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (International Workshop on Scientific Computing and Environmental Science 2018) โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จิรัฏฐ์ แสนทน รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นประธานเปิดการประชุม และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนะศักดิ์ หมวกทองหลาง หัวหน้าภาควิชาคณิตศาสตร์ กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดงาน ในวันที่ 12 มีนาคม 2561 ณ ห้อง SCB4305 อาคาร 45 ปี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งการประชุมได้เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม และจะดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 มีนาคม 2561
เป็นที่ทราบกันดีว่าการพัฒนางานวิจัยทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพสูงนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากในการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพในการแข่งขันกับนานาประเทศ เช่น ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน การเงิน วิศวกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ เกษตรกรรม รวมทั้งวิทยาศาสตร์การแพทย์ วิทยาศาสตร์สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาประยุกต์ใช้ร่วมกับศาสตร์สาขาต่าง ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยระหว่างหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ เพราะจะเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนางานวิจัยได้อย่างเข้มแข็งและรอบด้าน
ภาควิชาคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยทางด้านคณิตศาสตร์สู่ความเป็นเลิศ รวมถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรอย่างต่อเนื่อง จึงได้ร่วมมือกับ Interdisciplinary Research Center for Scientific Computing (IWR) มหาวิทยาลัยไฮเดลเบิร์ก สหพันธรัฐเยอรมนี จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ Workshop on Scientific Computing and Environmental Science 2018 (Chiang Mai –IWR Summer School 2018) ในครั้งนี้ขึ้น โดยการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยภายในประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมถึงมหาวิทยาลัยเครือข่ายในภูมิภาคเอเชีย โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเพิ่มศักยภาพของบุคลากรและสร้างความร่วมมือทางวิชาการและงานวิจัยทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์กับนักวิจัยผู้เชี่ยวชาญโดยตรง อีกทั้งเพื่อสร้างความตื่นตัวในการทำงานวิจัยและสร้างเครือข่ายการทำงานวิจัยร่วมกันของนิสิต นักศึกษา และคณาจารย์ของสถาบันภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาผลงานวิจัยที่มีคุณภาพ จนสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาประเทศ ตลอดจนแก้ไขปัญหาระดับชาติและนานาชาติต่อไป โดยมีคณาจารย์ นักศึกษา และผู้สนใจเข้าร่วมประชุม ประมาณ 50 คน
วันที่ : 12 มี.ค. 2018