คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดพิธีเปิดอาคารปฏิบัติการกลาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Central Science Laboratory) โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์คลินิก นพ.นิเวศน์ นันทจิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นประธานเปิดอาคาร และเยี่ยมชมนิทรรศการ ผลงานวิจัย ตลอดจนเครื่องมือ นวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ ภายในอาคารปฏิบัติการ โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวรายงานความเป็นมาและความสำคัญของอาคารปฏิบัติการดังกล่าว เมื่อวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561 ณ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อาคารปฏิบัติการกลาง คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (Central Science Laboratory) เป็นศูนย์กลางในการให้บริการเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญในการศึกษา ค้นคว้า วิจัย และจัดการเรียนการสอน อีกทั้งยังเป็นสถานที่ตั้งของหน่วยวิจัยควอนตัม และโครงการ Science Start up ที่มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนและผลักดันให้ผลงานวิจัยออกไปสู่ภาคธุรกิจและเชิงพาณิชย์ ตามความต้องการของสังคมและภาคเอกชน ตลอดจนแสดงถึงศักยภาพของการวิจัย อันจะนำมาซึ่งการผลิตผลงานเพื่อรับใช้สังคมและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
อาคารปฏิบัติการกลางเป็นอาคาร 3 ชั้น ประกอบด้วย
ชั้น 1 ให้บริการเครื่องมือวิเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ จำนวน 5 เครื่อง คือ
NMR 500 MHz (Nuclear Magnetic Resonance Spectrometer)
NMR เป็นเทคนิคเกี่ยวกับการวัดระดับพลังงานที่แตกต่างกันของนิวเคลียส ที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของสนามแม่เหล็ก ใช้ในการศึกษาวิเคราะห์เกี่ยวกับโครงสร้างทางเคมี เช่น การสังเคราะห์ทางเคมีและตรวจสอบปฏิกิริยาเคมี ตรวจสอบยา อาหาร และสารปนเปื้อนต่างๆ
XRD (X-ray Diffractometer)
เทคนิคเอกซเรย์ดิฟแฟรกชัน หรือ เทคนิค XRD เป็นเทคนิคที่นำรังสีเอกซ์มาใช้วิเคราะห์โครงสร้างผลึกของสารประกอบและแร่ ผลการวิเคราะห์จาก XRD ทำให้สามารถแยกแยะประเภทและชนิดของวัสดุที่พบในธรรมชาติว่ามีรูปแบบโครงสร้างผลึกแบบใด หรือจำแนกได้ว่าวัสดุที่พบเห็นนั้นเป็นแร่ชนิดใด โดยทำการวัดค่าความเข้มของรังสีที่สะท้อนออกมาที่มุมต่างๆเปรียบเทียบกับข้อมูลมาตรฐานที่ทำการตรวจวัด โดยองค์กร JCPDs (Joint Committee on Powder Diffraction Standard) เนื่องจากสารประกอบแต่ละชนิดมีรูปแบบโครงสร้างผลึกแตกต่างกันและระยะห่างระหว่างระนาบของอะตอมที่จัดเรียงกันอย่างเป็นระเบียบก็แตกต่างกันไปด้วย
ความสามารถของเครื่องมือ/ความละเอียด
- วิเคราะห์หาเฟส (2Theta 1-140องศา)
- วิเคราะห์หาขนาดของผลึกและหาปริมาณความเป็นผลึกสัมพัทธ์
- วิเคราะห์หาเฟสในฟิล์มบาง (โดยสามารถกำหนดมุมของ X-ray ได้ 0.4 – 2องศา ซึ่งทำให้หาเฟสของฟิล์มบางระดับนาโนเมตรได้)
- วัสดุที่รับทดสอบ ได้แก่ ของแข็ง (ชิ้น ผง ฟิล์มหนา และฟิล์มบาง), ของเหลว (สารละลายที่มีปริมาณความเข้มข้น 5 wt% ขึ้นไป) ตัวอย่างเช่น วัตถุดิบเซรามิก แป้ง ชิ้นงานโลหะ และตะกอน เป็นต้น
SC-XRD (Single Crystal X-ray Diffractometer)
เป็นเครื่องมือที่ใช้ศึกษารูปแบบโครงสร้างของผลึกเดี่ยว (Single Crystal Structure) โดยอาศัยหลักการเลี้ยวเบนและการกระเจิงของรังสีเอ็กซ์ ข้อมูลที่ตรวจวัดได้ เมื่อผ่านการแปรผลแล้ว ทำให้ทราบค่า unit cell parameters ซึ่งทำให้สามารถสร้างรูปแบบโครงสร้างผลึก เนื่องจากสารประกอบแต่ละชนิด มีรูปแบบโครงสร้างผลึกแตกต่างกัน ระยะห่างระหว่างระนาบของอะตอม ที่จัดเรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบก็แตกต่างกันไปด้วย โดยที่ขนาดและประจุของอะตอม ของสารประกอบแต่ละชนิดจะมีรูปแบบ XRD pattern เฉพาะตัว ทำให้สามารถพิสูจน์เอกลักษณ์ (Identification) ของผลึกตัวอย่างได้
SEM (Scanning Electron Microscope)
SEM เป็นกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแบบส่องกราดที่มีแหล่งกำเนิดอิเล็กตรอนแบบ Lanthanum Hexaboride Cathodes (Lab6) เป็นกล้องที่ทำงานในภาวะสุญญากาศสูง (HV mode) มีความแยกชัดสูง เท่ากับ 2.0 nm ศักย์เร่งอิเล็กตรอนปรับเปลี่ยนได้ในช่วง 0.3-30 kV เหมาะสำหรับงานทางวิทยาศาสตร์กายภาพ เช่น โลหะ, เซรามิก, พอลิเมอร์, ซีเมนต์, แก้ว เป็นต้น
FIB (Focus Ion Beam)
FIB (เครื่องโฟกัสไอออนบีม) เป็นเครื่องมือที่มีความสามารถในการมองเห็นภาพในระดับนาโน ด้วย SEM (Scanning Electron Microscope) และในขณะเดียวกันก็สามารถตัด เจาะ ไส เฉือน ชิ้นงานด้วยลำไอออน เหมาะสำหรับงานทางวิทยาศาสตร์ชีวภาพและนิติวิทยาศาสตร์
ชั้น 2 Quantum Research Unit
ห้องวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัม ได้รับการประเมินผลงานประจำปี 2559 จากศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ ให้เป็นห้องปฏิบัติการวิจัยเครือข่ายที่มีผลปฏิบัติงานดีเด่น และได้รับคัดเลือกให้นำเสนอผลงานการทำงานในหัวข้อ “Synopsis of the Development of Cold Atom Facility” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ และเป็นที่มาของการได้รับงบประมาณสนับสนุนในการจัดตั้งหน่วยวิจัยทัศนศาสตร์เชิงอะตอมควอนตัม เพื่อให้ดำรงไว้ซึ่งความเป็นผู้นำด้านสาขาวิจัยวิทยาศาสตร์ของอะตอม - โมเลกุล - แสง อันเปรียบได้กับกระดูกสันหลังของเทคโนโลยีอุบัติใหม่มากมายในปัจจุบัน
ชั้น 3 Science Startup Initiative Project
ศูนย์บริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ศวท-มช.) ดำเนินการให้บริการ Science Startup Company ตามแผนพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ ระยะที่ 12 เพื่อตอบสนองการวิจัยและบริการวิชาการแก่ผู้ประกอบการรายใหม่ที่มีความร่วมมือด้านวิจัยกับบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ โดยปัจจุบันมีบริษัทเข้าร่วม 3 บริษัท คือ
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม โทร. 053 943322 งานบริหารงานวิจัยฯ คณะวิทยาศาสตร์ มช.
ชมภาพเพิ่มเติม PRCMU
วันที่ : 28 พ.ย. 2018