รายงานประจำปีฉบับนี้ เป็นข้อมูลแสดงภารกิจในรอบปีงบประมาณ 2541 (ตุลาคม 2540 - กันยายน 2541) ในส่วนของภารกิจด้านการเรียน การสอน นั้น ได้มีบัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิต จากคณะวิทยาศาสตร์ เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตร เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2541 เป็นจำนวนทั้งสิ้น 325 คน เป็นระดับบัณฑิตศึกษา 67 คน

คณะวิทยาศาสตร์ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาเป็นอย่างมาก ด้วยเหตุผลดังกล่าวทำให้คณะฯ ได้เข้าร่วมเป็นสถาบันฝ่ายผลิตของทบวงมหาวิทยาลัยในโครงการผลิตและพัฒนาอาจารย์ โดยในปีนี้คณะฯ ได้เข้าร่วมเป็นสถาบันฝ่ายผลิตเพิ่มอีก 1 หลักสูตร คือ หลักสูตรธรณีฟิสิกส์ประยุกต์ ทำให้ปัจจุบันได้เข้าร่วมเป็นสถาบันฝ่ายผลิตทั้งสิ้น 13 หลักสูตร เป็นระดับปริญญาเอก 7 หลักสูตร และระดับปริญญาโท 6 หลักสูตร นอกจากนั้นคณาจารย์ของคณะฯ ก็ได้รับทุนเพื่อเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ โครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก เพิ่มเติมจากปีที่แล้วอีก 15 ทุน รวม 2 ปี เป็นจำนวน 32 ทุน โครงการดังกล่าวเป็นโครงการระดับชาติ ดำเนินการโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างบัณฑิตปริญญาเอกมาตรฐานสากล ยิ่งไปกว่านั้น หลักสูตรระดับปริญญาเอกของคณะฯ อีก 2 หลักสูตร ก็ได้รับคัดเลือกจากทบวงฯ ให้ได้รับการสนับสนุนในโครงการปริญญาเอกร่วมสถาบันกับต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ หลักสูตรปริญญาเอกฟิสิกส์ ร่วมกับมหาวิทยาลัย Uppsala ประเทศสวีเดน และหลักสูตรปริญญาเอกเคมี ร่วมกับ มหาวิทยาลัย Washington ประเทศสหรัฐอเมริกา

สำหรับด้านการวิจัย คณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์ สามารถแสวงหาทุนวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนกว่า 19.3 ล้านบาท และมีการตีพิมพ์ ตลอดจนเสนอผลงานวิจัยในวารสารและการประชุมวิชาการ ทั้งในและต่างประเทศกว่า 120 รายการ นอกจากนั้น ศูนย์วิจัยนิวตรอนพลังงานสูง ยังได้รับประกาศเกียรติคุณจากมูลนิธิโทเรประเทศไทย ให้ได้รับรางวัลของมูลนิธิ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่ว่าเป็นศูนย์วิจัยทางด้านฟิสิกส์นิวเคลียร์ชั้นนำของประเทศ

ในด้านบริการวิชาการต่อชุมชน นอกเหนือจากกิจกรรมที่ได้ทำต่อเนื่องกันทุกปี ไม่ว่าจะเป็นการอบรม สัมมนา การวิเคราะห์ตรวจสอบ และการรับเชิญเป็นวิทยากรของคณาจารย์แล้ว ยังมีกิจกรรมประเภทอื่นที่ได้นำขื่อเสียงมาสู่คณะวิทยาศาสตร์ เช่น งานสำรวจชนิดของนก และการพัฒนาศักยภาพของชุมชนตัวอย่าง เพื่อการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการหอพรรณไม้และฐานข้อมูลทางพฤกษศาสตร์ที่ให้บริการเกี่ยวกับแหล่งพืชพรรณไม้ เป็นต้น

สำหรับด้านโครงสร้างพื้นฐานนั้น ในปีงบประมาณ 2541 คณะวิทยาศาสตร์ได้ติดตั้งเครือข่ายสื่อสารข้อมูล (SCI-NET) โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุด เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหาร เครือข่ายนี้ทำให้การแลกเปลี่ยนสื่อสารข้อมูล และแบ่งปันทรัพยากรภายในและภายนอกคณะฯ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ศาสตราจารย์ ดร.กิตติชัย วัฒนานิกร

คณบดีคณะวิทยาศาสตร์