การจัดการศึกษา

การขยายโอกาสทางการศึกษา

การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศ

คณะวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศตามนโยบายการบริหารงานของคณะอย่างต่อเนื่องตลอดมา และในปีงบประมาณ 2541 ได้ติดตั้งเครือข่ายสื่อสารข้อมูลคณะวิทยาศาสตร์ (SCI-Net) เพื่อใช้ประโยชน์ในด้านการเรียนการสอน การวิจัย และการบริหาร เครือข่ายนี้ทำให้การแลกเปลี่ยนสื่อสารข้อมูล ข่าวสาร และการแบ่งปันทรัพยากรที่มีอยู่เป็นไปได้เต็มที่ สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ระบบเครือข่ายได้รับการออกแบบภายใต้วงเงินงบประมาณที่จำกัด ให้มีความสามารถรองรับการใช้งานในปัจจุบัน มีความเชื่อถือได้ มีโครงสร้างที่ดีและสามารถขยาย ปรับเปลี่ยน หรือรองรับการใช้งานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของมหาวิทยาลัยได้

SCI-Net มีศูนย์กลางอยู่ที่สำนักงานเลขานุการฯ และที่ศูนย์กลางนี้เป็นจุดเชื่อมต่อกับเครือข่ายสื่อสารข้อมูลหลักของมหาวิทยาลัย (ATM Campus Backbone) โดย SCI-Net สามารถรับส่งข้อมูลได้ด้วยความเร็ว 100 เมกะบิทต่อวินาที และใช้เทคโนโลยีอุปกรณ์หลัก (Backbone) ที่ทันสมัยที่สุดในปี 2541 (Layer 3 Switch : Core Builder 3500) โครงสร้างพื้นฐานของเครือข่ายประกอบด้วยเส้นใยแก้วนำแสงแบบ Multimode ชนิด 6 เส้นที่เชื่อมต่อจากศูนย์กลางเครือข่ายไปยังอาคารหลักของภาควิชา 8 ภาควิชา และอาคารปฏิบัติการรวม ซึ่งเป็นที่ตั้งของห้องสมุดคณะวิทยาศาสตร์ ศูนย์ประสานงานสาขาวิชาร่วม และโครงการศูนย์วิจัยน้ำ (Water Research Center) โดยเชื่อมต่อเข้ากับ Ethernet Hub ภายในอาคารของภาควิชา และกระจายสู่คอมพิวเตอร์ลูกข่ายในอาคาร ผ่านเครือข่ายสายสัญญาณทองแดง (Unshielded Twisted Pair) แบบ UTP cat 5

การดำเนินการโครงการ SCI-Net ซึ่งประกอบด้วย การออกแบบ กำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของอุปกรณ์ การจัดซื้อและติดตั้ง มีระยะเวลาดำเนินการ 8 เดือน ภายใต้วงเงินงบประมาณเงินรายได้ประมาณ 4 ล้านบาท โดยใช้ผลิตภัณฑ์หลักทางด้านระบบสายสัญญาณและอุปกรณ์เครือข่ายของ 3COM ประเทศสหรัฐอเมริกา

การติดตั้งสายสัญญาณของ SCI-Net แบ่งเป็น 2 ระดับ

1) ระบบสายสัญญาณหลักระหว่างอาคารของภาควิชากับศูนย์กลางเครือข่าย เป็นแบบสายใยแก้วนำแสง (Optical Fiber Cable) รวม 9 เส้น มีทั้งลักษณะแขวน (Aerial) และแบบฝังดิน (Underground)

2) ระบบสายสัญญาณเครือข่ายภายในอาคาร รวม 5 อาคาร (อาคารเคมี 2, อาคารฟิสิกส์, อาคารชีววิทยา, อาคารเคมีอุตสาหกรรม และอาคารภาควิชาสถิติ) แต่ละอาคารติดตั้งสายตามมาตรฐาน 10BaseT โดยใช้สายสัญญาณแบบ UTP cat

การใช้งานของ SCI-Net ในปัจจุบัน นอกจากจะช่วยให้อาจารย์ นักศึกษาและบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์ติดต่อสื่อสารระหว่างกัน สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกันแล้ว ยังสามารถใช้บริการเครือข่ายอินเตอร์เนต (Internet) ผ่านเครื่องบริการอินเตอร์เน็ต (Internet Host) ของคณะ ซึ่งได้เปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2540 อีกด้วย

นอกจากการติดตั้ง SCI-Net แล้ว ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่ดำเนินการโดยสำนักงานเลขานุการ อาทิ กิจกรรมพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ซึ่งได้มีการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการทั้งภายในและภายนอกสถานที่สำหรับบุคลากรทั้งในเรื่องทั่วไปและเรื่องเฉพาะด้าน การพัฒนาระบบฐานข้อมูลในหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความต้องการใช้ระบบอัตโนมัติเพื่อการปฏิบัติงานและจัดทำระบบสารสนเทศเพื่องานบริหาร นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมเผยแพร่ข่าวสาร ข้อมูลและกิจกรรมของคณะในรอบปี ผ่านทาง Internet (www.science.cmu.ac.th)