การจัดการศึกษา |
การขยายโอกาสทางการศึกษา |
.
โครงการรับเข้าพิเศษระดับปริญญาตรี
คณะวิทยาศาสตร์ ได้ให้ความร่วมมือดำเนินงานตามโครงการ พสวท. ซึ่งเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของ 4 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ ทบวงมหาวิทยาลัย และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีจุดมุ่งหมายร่วมกันส่งเสริมและผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะวิทยาศาสตร์พื้นฐานในสาขาที่ขาดแคลนเพื่อสนองความต้องการของประเทศอย่างเร่งด่วน โดยรับผิดชอบเป็นศูนย์ของโครงการ พสวท. ระดับอุดมศึกษาประจำภาคเหนือ ซึ่งรับผิดชอบคัดเลือกนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมศึกษาใน 17 จังหวัดเขตพัฒนาภาคเหนือ ประกอบด้วยจังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี ที่มีผลการเรียนดีและสนใจทางด้านวิทยาศาสตร์เป็นพิเศษเข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเอกคณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา ฟิสิกส์ และธรณีวิทยา
คณะวิทยาศาสตร์ ได้ริเริ่มโครงการรับนักศึกษาเข้าโดยวิธีพิเศษ (วพ.) ขึ้นอีกโครงการหนึ่งเพื่อตอบสนองนักเรียนที่พลาดโอกาสในโครงการ พสวท. และมีความตั้งใจแน่วแน่ที่จะเข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ โครงการ วพ. ได้กำหนดรับนักศึกษาพร้อม ๆ กันกับการรับนักศึกษาเข้าโครงการ พสวท. ตั้งแต่ปีการศึกษา 2528 เป็นต้นมา ในระยะแรก (ปีการศึกษา 2528-2535) กำหนดรับนักศึกษาทั้งสองโครงการ จำนวนไม่เกิน 50 คน ต่อมาในระยะที่สอง (ปีการศึกษา 2536-2539) กำหนดรับนักศึกษาทั้งสองโครงการจำนวนไม่เกิน 100 คน และระยะที่สาม( ตั้งแต่ปีการศึกษา 2540 เป็นต้นมา) กำหนดรับนักศึกษาโครงการพิเศษรวมทุกโครงการจำนวนไม่เกิน 125 คน
ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยมีแผนการรับนักศึกษาสาขาวิชาคณิตศสตร์และสาขาวิชาคณิตศาสตร์ศึกษาโดยจัดสรรทุนการศึกษา
สาขาวิชาคณิตศาสตร์ให้กับมหาวิทยาลัย 16 แห่ง ๆ ละ 5 ทุน นั้น คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความร่วมมือกับทบวงมหาวิทยาลัยในการรับนักศึกษาเข้าศึกษาในโครงการ รพค. ดังกล่าวนี้ โดยเห็นชอบให้การดำเนินการอยู่ภายใต้การดูแลของคณะทำงานโครงการ พสวท. และ วพ. ในปีการศึกษา 2538 การรับนักศึกษาได้คัดเลือกจากนักศึกษาชั้นปีที่ 1 โดยการประกาศรับสมัครนักศึกษาที่มีเงื่อนไขครบตามคุณสมบัติและมีความสนใจที่จะศึกษาในสาขาวิชาคณิตศาสตร์ สำหรับปีการศึกษา 2539 เป็นต้นมา การรับนักศึกษาจะคัดเลือกโดยใช้กระบวนการและข้อสอบเดียวกันกับการสอบคัดเลือกนักศึกษาในโครงการพิเศษอื่น ๆ
ทบวงมหาวิทยาลัย กระทรวงศึกษาธิการ และสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ร่วมกันจัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์(สควค.) ขึ้นเพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ที่มีความสามารถมีคุณภาพสูง และเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาการขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยหาวิธีการจูงใจให้ผู้ที่มีความรู้ ความสามารถสูงทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์สนใจมาเรียนเป็นครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ให้มากขึ้น อาทิเช่น การให้ทุนการศึกษา การบรรจุเข้ารับราชการทันทีที่จบการศึกษา และมีเงินเพิ่มค่าวิชาชีพที่ขาดแคลน รวมทั้งให้สวัสดิการต่าง ๆ เพื่อให้อาชีพครูมีเกียรติและมีศักดิ์ศรี โดยคาดหวังว่าครูที่เป็นผลผลิตของโครงการนี้จะกระจายไปอยู่ทั่วประเทศเป็นครูตัวอย่างที่จะทำให้มีผู้ใฝ่ใจเรียนเป็นครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพิ่มมากขึ้น และเป็นกำลังสำคัญในการแก้ปัญหาการเรียนการสอน และการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อไป ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เข้าร่วมโครงการเพื่อผลิตครูวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาคเหนือระยะที่ 1 ตั้งแต่ พ.ศ. 2539-2545
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้มีนโยบายรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่สนใจตามคณะต่าง ๆ จึงได้กำหนดโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเข้าศึกษาขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นไป ในส่วนของคณะวิทยาศาสตร์ ได้ดำเนินการรับสมัครและสอบคัดเลือกนักเรียนชั้น ม.6 ในเขตพัฒนาภาคเหนือ เข้าศึกษาในโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี จำนวนปีละไม่เกิน 20 คน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นไป โดยทำการสอบคัดเลือกพร้อมกับการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการ พสวท. สควค. รพค. และ วพ. มีวัตถุประสงค์เพื่อคัดเลือกและให้การสนับสนุนนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายเข้าศึกษาในสาขาวิชาที่สนใจ และมีความถนัดในคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อเตรียมบัณฑิตที่มีคุณภาพสูงสำหรับศึกษาต่อในระดับบัณฑิตศึกษาเป็นนักวิจัยหรือเป็นอาจารย์ของมหาวิทยาลัย
สำหรับปีการศึกษา 2542 คณะวิทยาศาสตร์ ได้คัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนในโครงการ พสวท. 20 คน รพค. 5 คน สควค. 17 คน และโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี 17 คน รวมนักศึกษาโครงการพิเศษทุกโครงการทั้งสิ้น 59 คน
การดำเนินงานตามโครงการ พสวท. วพ. รพค. สควค. และโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี คณะวิทยาศาสตร์ ได้มอบหมายให้คณะทำงานคณะหนึ่งเรียกว่า คณะทำงานโครงการ พสวท. วพ. รพค. สควค. และโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหน้าที่บริหารและดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ สำหรับปี 2542 มีกิจกรรมหลักที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 4 กิจกรรม คือ
สำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรี
ในปีการศึกษา 2542 มีนักศึกษาได้รับทุนรวม 154 ราย เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,164,896 บาท และเงินช่วยเหลือพิเศษสมทบเงินทุนการศึกษา จำนวน 8 ราย เป็นเงิน 38,500 บาท ทั้งนี้ คณะวิทยาศาสตร์ ได้รับความอนุเคราะห์จากบริษัท มูลนิธิและผู้มีจิตศรัทธาร่วมบริจาคเงินเพื่อเป็นทุนการศึกษาและเงินช่วยเหลือพิเศษ ดังเช่นทุกปีที่ผ่านมาทุนการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา ประจำปีการศึกษา 2542 มีนักศึกษาระดับปริญญาเอกได้รับทุนจำนวน 7 ราย จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) รวมเป็นเงิน 1,190,000 บาท และนักศึกษาระดับปริญญาโทได้รับทุนจำนวน 12 ราย จาก สวทช. บริษัทและมูลนิธิต่าง ๆ รวมทั้งทุนที่จัดสรรโดยภาควิชาเคมี รวมเป็นเงิน 598,000 บาท
เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาตามที่รัฐบาลมีนโยบายให้เงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาสำหรับนักศึกษาที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ หรือผู้ที่มีรายได้น้อยนั้น ในปีการศึกษา 2542 หน่วยกิจการนักศึกษาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ดำเนินการรับสมัคร พิจารณาคัดเลือกและเสนอชื่อให้มหาวิทยาลัย ตลอดจนการทำสัญญากู้ยืมเงินสำหรับนักศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ โดยมีผู้สนใจสมัครและผ่านการคัดเลือกให้กู้ยืมเงิน ทั้งรอบที่ 1 และรอบที่ 2 จำนวน 870 คน (เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จำนวน 105 คน) เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 34,447,554 บาท (เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จำนวน 1,751,794 บาท)
ทุนสนับสนุนกิจกรรมวิชาการระดับบัณฑิตศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ได้จัดสรรเงินเพื่อใช้ในกิจกรรมวิชาการบัณฑิตศึกษาในหลายรูปแบบ อาทิ
ในปีการศึกษาที่ผ่านมาได้ให้การสนับสนุนในกิจกรรมดังกล่าวข้างต้นรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 710,537 บาท
.