1. ชื่อหน่วยวิจัย |
ผงถ่านกัมมันต์เคลือบผิว(Surface Coating-Activated Carbon) |
|
ภาควิชา |
เคมี |
|
2. สมาชิก |
2.1 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุรศักดิ์ วัฒเนสก์ 2.2 ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เรืองศรี วัฒเนสก์ |
ผู้ประสานงาน สมาชิก |
3. หลักการและเหตุผล
ในปัจจุบัน ปัญหามลภาวะเป็นปัญหาใหญ๋ที่สมควรต้องร่วมมือแก้ไข ผงถ่านกัมมันต์ (activated carbon) จัดเป็นสารดูดซับ (adsorbent) ที่นิยมใช้ในการดูดซับสารพิษ ทั้งที่อยู่ในสภาพที่เป็นแก๊สและของเหลวเช่นบรรจุในหน้ากากป้องกันไอพิษ ใช้เป็นสารกรองน้ำให้สะอาด ฯลฯ เป็นต้น เนื่องจากมีราคาถูก และมีประสิทธิภาพในการดูดซับที่ดี การเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับของผงถ่านกัมมันต์ สามารถทำได้โดยการเคลือบผิวผงถ่านกัมมันต์ด้วยสารอื่น ได้แก่สารประกอบเชิงซ้อนของโลหะบางประเภท ปกติแล้วผงถ่านเคลือบผิวดังกล่าวเหล่านั้น มีราคาแพงและต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ นอกจากนี้ในปัจจุบันได้มีการศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับของสารบนถ่านประเภทอื่นได้แก่ การดูดซับ ฟลูออไรด์ด้วยถ่านกระดูก (bone char) ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และมีราคาถูก การศึกษาถึงการเคลือบผิวถ่านประเภทนี้ อาจเพิ่มประสิทธิภาพการดูดซับสารอื่นได้ ด้วยเหตุนี้ กล่มผู้วิจัย จึงขอจัดตั้งหน่วยวิจัยผงถ่านกัมมันต์เคลือบผิวขึ้น
4. วัตถุประสงค์และเป้าหมาย
4.1 เพื่อศึกษาถึงวิธีการและสภาวะที่เหมาะสม ในเคลือบผิวผงถ่านกัมมันต์ด้วยสารประกอบเชิงซ้อนของโลหะบางตัว ได้แก่ ทองแดง เงิน และโครเมียม กับลิแกนด์ที่เหมาะสม และศึกษาประสิทธิภาพของการดูดซับบนผงถ่านกัมมันต์เคลือบผิวที่เตรียมขึ้น
4.2 เพื่อศึกษาถึงวิธีการและสภาวะที่เหมาะสม ในเคลือบผิวถ่านประเภทอื่น ได้แก่ถ่านกระดูกและศึกษาประสิทธิภาพของการดูดซับถ่านเคลือบผิวที่เตรียมขึ้น
5. งานวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่
ได้ศึกษาถึงการเคลือบผิวของผงถ่านกัมมันต์ โดยเริ่มการศึกษาเบื้องต้นจากผงถ่านกัมมันต์เคลือบผิวที่นำออกมาจากหน้ากากป้องกันแก๊สพิษทางทหาร ที่ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ จากการตรวจสอบโดยใช้เทคนิคทางรังสี พบว่ามีสารประกอบเชิงซ้อนของโลหะบางตัว เช่น ทองแดง เงิน โครเมียมและเหล็ก เคลือบผิวอยู่ จึงได้ทำการวิเคราะห์หาปริมาณของโลหะดังกล่าวในผงถ่านกัมมันต์เคลือบผิว และได้เริ่มทำการทดลองตรวจสอบสมบัติบางประการ ของสารประกอบเชิงซ้อนของโลหะทองแดง เงิน และโครเมียมกับลิแกนด์ที่เหมาะสม ซึ่งพบว่าลิแกนด์ที่ใช้เคลือบผิวถ่านกัมมันต์ คือ ไตรเอธิลีนไดอะมีน (TEDA) ที่มีอัตราส่วนโดยโมลระหว่างไอออนของโลหะต่อ TEDA เป็น 1:2 จากนั้นได้ทำการทดลองเพื่อหาวิธีการและสภาวะที่เหมาะสม ในการเคลือบผิวผงถ่านกัมมันต์ พบว่า การเคลือบผิวผงถ่านกัมมันต์ ด้วยสารประกอบเชิงซ้อนของไอออนของทองแดง เงิน และ โครเมียม กับ TEDA โดยวิธีการระเหยให้ตัวทำละลายแห้ง ให้ผลที่ดีกว่าการเคลือบโดยตรงด้วยสารละลาย โดยที่ค่าความแรงของไอออนในสารละลาย ไม่มีผลต่อการดูดซับสารประกอบเชิงซ้อนบนผิวถ่านกัมมันต์ จึงได้ทำการทดสอบถึงประสิทธิภาพการดูดซับสารอื่น เช่น ฟอสเฟต สารลดแรงตึงผิว ฯลฯ บนถ่านกัมมันต์เคลือบผิว พบว่าประสิทธิภาพการดูดซับฟอสเฟตของถ่านกัมมันต์เคลือบผิวด้วยสารเชิงซ้อน ดีกว่าบนถ่านกัมมันต์เคลือบผิวด้วยไอออนเชิงซ้อน และดีกว่าบนถ่านกัมมันต์ที่ไม่ได้เคลือบผิว และเนื่องจากพฤติกรรมบนพื้นผิวของสารดูดซับบางประเภทมีประโยชน์อย่างยิ่งในการประยุกต์ทางอุตสาหกรรม ขณะนี้หน่วยวิจัยจึงได้ขยายขอบเขตของการวิจัยให้กว้างขึ้น โดยได้ศึกษาพฤติกรรมของสารที่ใช้เคลือบบนผิวของตัวดูดซับอื่นได้แก่ น้ำเคลือบเซรามิกส์พื้นบ้าน การปรับปรุงคุณภาพของน้ำเคลือบ จะมีผลต่อการควบคุมคุณภาพของผลิตภัณฑ์เซรามิกส์ที่เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญของประเทศ
6. อุปกรณ์/เครื่องมือวิจัยที่มีอยู่แล้ว
6.1 UV-VIS Spectrophotometer
6.2 Atomic Absorption Spectrophotometer
6.3 Conductivity meter
6.4 pH - meter
6.5 Rotary evaporator
7. ผลสัมฤทธิ์ทางการวิจัย ตุลาคม 2541 - ตุลาคม 2542
จากผลงานที่ผ่านมา ได้ทราบถึงแนวทางความเป็นไปได้ ของการเคลือบผิวของผงถ่านกัมมันต์ด้วยสารประกอบเชิงซ้อนของโลหะทองแดง เงินและ โครเมียม กับ ลิแกนด์ไตรเอธิลีน-ไดอะมีน (TEDA) จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า สารประกอบเชิงซ้อนดังกล่าว มีอัตราส่วนโดยโมลในสูตรเป็น 1 : 2 จากนั้นได้ทดลองศึกษาขั้นตอนการเคลือบผิวผงถ่านกัมมันต์สองแบบ แบบแรกได้เคลือบผิวผงถ่านกัมมันต์ด้วย TEDA ก่อน แล้วตามด้วยการเคลือบด้วยลิแกนด์ TEDA ส่วนแบบที่สองได้เตรียมสารประกอบเชิงซ้อนของโลหะกับ TEDA ก่อน แล้วจึงนำไปเคลือบผิวผงถ่านกัมมันต์ พร้อมทั้งได้ศึกษาไอโซเทอมการดูดซับที่เกิดขึ้นทั้งสองวิธีด้วย พบว่าสองวิธีให้ผลการทดลองที่ต่างกัน จากนั้นได้ทำการทดลอง เพื่อหาวิธีการและสภาวะที่เหมาะสมในการเคลือบผิวผงถ่านกัมมันต์ พบว่า การเคลือบผิวผงถ่านกัมมันต์ ด้วยสารประกอบเชิงซ้อนของไอออนของทองแดง เงิน และ โครเมียม กับ TEDA โดยวิธีการระเหยแห้งตัวทำละลาย ให้ผลที่ดีกว่าการเคลือบโดยตรงด้วยสารละลาย โดยที่ค่าความแรงของไอออนในสารละลาย ไม่มีผลต่อการดูดซับสารประกอบเชิงซ้อนบนผิวถ่านกัมมันต์ ต่อจากนั้น ได้ทำการศึกษาประสิทธิภาพการดูดซับของฟอสเฟตบนถ่านกัมมันต์เคลือบผิว พบว่า ถ่านกัมมันต์ที่เคลือบผิวด้วย TEDA แล้วตามด้วย Cu2+ สามารถดูดซับไอออนฟอสเฟต ได้ดีกว่า ถ่านกัมมันต์เคลือบผิวด้วย Cu2+และถ่านที่เคลือบผิวทั้งสองรูปแบบสามารถดูดซับฟอสเฟตได้ดีกว่าถ่านกัมมันต์ที่ไม่ได้เคลือบผิว
ผลงานวิจัยที่ได้ดำเนินการแล้ว รวบรวมเป็นวิทยานิพนธ์ และการค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์ ของนักศึกษาบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาเคมี และสาขาวิชาการสอนเคมี ดังนี้
7.1 ปรีชา ปัญญา, การศึกษาการดูดซับสารประกอบเชิงซ้อนของโลหะทรานสิชันบางตัวกับไตรเอธิลีนไดอะมีนบนถ่านกัมมันต์, วิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (เคมี) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2541.
7.2 ธิยา ชนะศักดิ์, การดูดซับของฟอสเฟตบนถ่านกัมมันต์เคลือบผิว, การค้นคว้าแบบอิสระเชิงวิทยานิพนธ์วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต (การสอนเคมี) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2542.
ผลงานบางส่วน ได้นำเสนอแบบโปสเตอร์ ในการประชุมวิชาการในประเทศ ดังนี้
1. ชนลดา จำบุญมา สุรศักดิ์ วัฒเนสก์ และ เรืองศรี วัฒเนสก์, การดูดซับสารประกอบเชิงซ้อนของทองแดง(II) - ไตรเอธิลีนไดอะมีนบนถ่านกัมมันต์, การประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 24 จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ระหว่างวันที่ 19-23 ตุลาคม 2541
2. ธิยา ชนะศักดิ์, เรืองศรี วัฒเนสก์ และ สุรศักดิ์ วัฒเนสก์, ประสิทธิภาพการดูดซับของฟอสเฟตบนถ่านกัมมันต์เคลือบผิว, ประชุมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 25 จัดโดยสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร ระหว่างวันที่ 20-22 ตุลาคม 2542
ผลงานบางส่วน ได้รับเพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารทางวิชาการ ดังนี้
1. Surasak Watanesk, Ruangsri Watanesk, Preecha Panya and Surapol Pachareon, Adsorption Studies of Some Transition Metal Ions with Triethylenediamine on Activated Carbon, J. Sci. Fac. CMU. 26 (1) 1999.
นอกจากนี้สมาชิกของหน่วยวิจัยได้รับเชิญให้เป็นที่ปรึกษา โครงการวิจัยหน้ากากป้องกันสารพิษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบอาวุธ สำนักงานวิทยาศาสตร์ กองทัพอากาศไทย และ โครงการวิจัยการขจัดฟลูออไรด์ด้วยถ่านกระดูก ศูนย์ทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยทางศูนย์วิจัยดังกล่าวได้ให้ความอนุเคราะห์มอบสารเคมีที่ใช้ในการทำวิจัยและปัญหาพิเศษของหน่วยวิจัยนี้ ผ่านภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทางด้านการเรียนการสอนและการวิจัยร่วมกันต่อไป
8. การให้บริการวิชาการของหน่วยวิจัย
ไม่มี
9. ศักยภาพและความพร้อมในการวิจัยและพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน
จากการที่หน่วยวิจัยได้ทำวิจัยร่วมในโครงการวิจัยหน้ากากป้องกันสารพิษ ศูนย์วิจัยและพัฒนาระบบอาวุธ สำนักงานวิทยาศาสตร์ กองทัพอากาศไทย และ โครงการวิจัยการขจัดฟลูออ-ไรด์ด้วยถ่านกระดูก ศูนย์ทันตสาธารณสุขระหว่างประเทศ และได้ขยายขอบเขตการวิจัยไปยังการศึกษาพฤติกรรมของสารแขวนลอยและสารคอลลอยด์ในน้ำเคลือบเซรามิกส์พื้นบ้าน โดยความร่วมมือของศูนย์เซรามิกส์ ภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ จึงคาดว่ามีศักยภาพและความพร้อมทั้งทางด้านบุคลากรและเครื่องอุปกรณ์ที่เพียงพอในระดับหนึ่ง ที่สามารถทำให้เกิดการวิจัยและการพัฒนาร่วมกับภาคเอกชนได้