โครงการรับเข้าพิเศษระดับปริญญาตรี

   


1. โครงการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (โครงการ พสวท.)

โครงการ พสวท. เป็นโครงการที่มีเป้าหมายผลิตนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย ที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์ ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี ในสาขาที่ขาดแคลนและเป็นความต้องการเร่งด่วนของประเทศ โดยการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ สำหรับศึกษาวิจัย ประดิษฐ์ คิดค้น และเผยแพร่ผลงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ โครงการ พสวท. สนับสนุน ส่งเสริมและให้ทุนการศึกษาแก่นักศึกษาในโครงการได้ศึกษาเล่าเรียนตั้งแต่ระดับปริญญาตรี จนถึงระดับปริญญาเอก และเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ทางโครงการ พสวท. จะหาหน่วยงานของรัฐให้นักศึกษาได้เข้าปฏิบัติงาน

2. โครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ (โครงการ สควค.)

โครงการ สควค. เป็นโครงการที่ผลิตบัณฑิตที่มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ออกไปรับราชการเป็นครูวิทยาศาสตร์ในระดับมัธยมศึกษา นักศึกษาโครงการ สควค. จะต้องเข้าศึกษาในระดับปริญญาตรี (วิทยาศาสตรบัณฑิต) 4 ปี และระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครูอีก 1 ปี รวมเป็น 5 ปี จึงจะออกไปบรรจุเข้ารับราชการครูได้ และหลังจากสำเร็จการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพครูแล้ว หากประสงค์จะเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโทและเอก ทางโครงการ สควค. ก็ยังให้การสนับสนุนเงินทุนการศึกษาต่อไปอีก ตามกำลังและความสามารถของแต่ละคน

3. โครงการรับนักเรียนทุนมูลนิธิวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อชุมชน (โครงการ วคช.)

โครงการ วคช. เป็นโครงการรับนักเรียนที่เรียนดี เข้ารับทุนการศึกษาของมูลนิธิวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์เพื่อชุมชนในสาขาวิชาที่ขาดแคลน (คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์) ปีละ 5 ทุน ๆ ละ 20,000 บาท ต่อปี เป็นทุนการศึกษาที่ให้เปล่า ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ นักเรียนผู้ประสงค์ที่จะรับทุนโครงการ วคช. จะต้องมีคุณสมบัติและสมัครสอบพร้อมกับการสมัครสอบคัดเลือกเข้าโครงการ พสวท.โดยใช้ข้อสอบและวันเวลาสอบเดียวกันกับกำหนดการสอบคัดเลือกนักเรียนเข้าโครงการ พสวท. ผู้ที่ผ่านการสอบคัดเลือกและเมื่อรายงานตัวเข้าเป็นนักศึกษาแล้ว มีสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่างที่คณะวิทยาศาสตร์ จัดให้แก่นักศึกษาโครงการ พสวท. หรือโครงการพิเศษอื่น ๆ

4. โครงการรับนักเรียนเข้าศึกษาโดยวิธีพิเศษ (โครงการ วพ.)

โครงการ วพ. เป็นโครงการที่คณะวิทยาศาสตร์ จัดทำขึ้นเพื่อตอบสนองนักเรียนที่พลาดโอกาสในโครงการ พสวท. และโครงการพิเศษอื่น ๆ ซึ่งมีความตั้งใจแน่วแน่ ที่จะเข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ นักเรียนผู้ที่ประสงค์จะเข้าเป็นนักศึกษาในโครงการ วพ. จะต้องสมัครสอบคัดเลือกเข้าโครงการ พสวท. และหรือ โครงการ สควค. และหรือโครงการ วคช. อย่างน้อยหนึ่งโครงการ หากสอบคัดเลือกพลาดจากโครงการดังกล่าวข้างต้นและมีคะแนนสอบข้อเขียนอยู่ในเกณฑ์ ก็จะได้รับคัดเลือกให้เป็นนักศึกษาโครงการ วพ. ซึ่งมีสิทธิ์เข้ามาศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยไม่ต้องไปสอบคัดเลือกในประเภทอื่นอีก และเมื่อรายงานตัวขึ้นทะเบียนเป็นนักศึกษาแล้วมีสิทธิ์เข้าร่วมกิจกรรมทุกอย่าง ที่คณะวิทยาศาสตร์จัดให้แก่นักศึกษาโครงการ พสวท. หรือโครงการพิเศษอื่นๆ และมีสิทธิ์เลือกเรียนสาขาวิชาเอกใดๆ ก็ได้ที่เปิดสอนในคณะวิทยาศาสตร์ เมื่อสำเร็จการศึกษาออกไปแล้ว ไม่มีข้อผูกมัดใดๆ

5. โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดีของคณะวิทยาศาสตร์

คณะวิทยาศาสตร์ ได้เข้าร่วมโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี เพื่อเข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นมา ตามนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่จะส่งเสริมและกระจายโอกาสทางการศึกษาให้แก่นักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ในชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ได้มีโอกาสเข้าศึกษาในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่ตนเองสนใจและมีความถนัดในคณะวิทยาศาสตร์ โดยกำหนดรับนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการปีละ 20 คน

6. โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน

ด้วยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักนายกรัฐมนตรี ได้จัดตั้งโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็กและเยาวชนขึ้น เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีกลไกและระบบในการเสาะหา คัดเลือกและบ่มเพาะ ผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และผู้มีอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์ให้มีศักยภาพสูงสุด เพื่อเพิ่มจำนวนนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ที่มีคุณภาพเป็นเยี่ยม และเพื่อปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนใฝ่ใจทางวิทยาศาสตร์และเข้าใจถึงบทบาทของวิทยาศาสตร์ต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศชาติ และมนุษยชาติ ตลอดจนมีความเข้าใจ และใฝ่รักในวิชาชีพนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ทั้งนี้ได้มีการคัดเลือกเด็ก/เยาวชนตั้งแต่ระดับมัธยมต้น และมัธยมปลาย ตลอดจนนักศึกษาปริญญาตรีเพื่อเข้าร่วมโครงการ โดยเน้นให้รู้จักกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และการวิจัยในสาขาต่าง ๆ เช่น เคมี ฟิสิกส์ ชีววิทยา ชีวเคมี คณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ วิทยาศาสตร์การแพทย์ และวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งมีนักวิจัยที่มีชื่อเสียงเป็นนักวิทยาศาสตร์พี่เลี้ยง คอยให้คำปรึกษาดูแล และเป็นผู้พิจารณาประเมินความสามารถในการเป็นนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัย ตลอดจนคัดเลือกเด็กและเยาวชนที่มี แววอัจฉริยะ ให้อยู่ในโครงการอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การสนับสนุนและพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์โดยให้ทุนการศึกษาระยะยาว และได้รับการศึกษาจนถึงปริญญาเอก
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ให้ความร่วมมือ สวทช. สนับสนุนนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ เข้ารับทุนการศึกษาในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางวิทยาศาสตร์สำหรับเด็กและเยาวชน ตั้งแต่ปีการศึกษา 2541 เป็นต้นมา ซึ่งนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการ ปีการศึกษาละ 1 คน ในปีการศึกษา 2541, 2542 และ 2543 สำหรับปีการศึกษา 2544 ได้ให้ความร่วมมือรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่อยู่ในโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพฯ เข้าเป็นนักศึกษาโดยไม่ต้องผ่านการสอบคัดเลือกเป็นกรณีพิเศษ อีกจำนวน 1 คน

7. โครงการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนดีเด่นทางการกีฬา

การพัฒนาบัณฑิตให้สมบูรณ์ทั้งกายและใจ เพื่อให้เป็นผู้ที่สามารถและทำงานได้เต็มตามศักยภาพ ดำรงชีวิตได้อย่างเป็นสุข นอกจากจะเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเชิงวิชาการ และวิชาชีพ มีคุณธรรมและจริยธรรมแล้ว ต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดีด้วย ซึ่งกีฬาจะมีส่วนอย่างสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เห็นความสำคัญของการพัฒนาคนให้มีความสมบูรณ์ทั้งกาย ใจ สถิตปัญญา คุณภาพและจริยธรรม จึงเห็นชอบเข้าร่วม "โครงการพัฒนาและส่งเสริมเยาวชนดีเด่นทางกีฬามหาวิทยาลัยเชียงใหม่" เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนที่มีความสามารถทางกีฬาและมีศักยภาพในการเรียนระดับอุดมศึกษา ได้ศึกษาใน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปีการศึกษา 2543 และกำหนดรับนักเรียนเข้าศึกษาในโครงการปีละ 5 คน

8.โครงการพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์(ทุนเรียนดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย)

คือโครงการสร้างฐานกำลังคนระดับปริญญาตรีทางวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ เพื่อเข้าสู่ระดับบัณฑิตศึกษา และรองรับงานการวิจัยและพัฒนาในอนาคต โครงการนี้เป็นโครงการร่วมระหว่างคณะวิทยาศาสตร์ของสถาบันอุดมศึกษาของรัฐทั่วประเทศ โดยผ่านที่ประชุมคณบดีวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย มีจุดประสงค์เพื่อคัดเลือกนักเรียนที่มีผลการเรียนดีและสนใจวิทยาศาสตร์เข้าเรียนต่อในคณะวิทยาศาสตร์ มีลักษณะพิเศษคือ จะให้ทุนแก่นักศึกษาโดยไม่มีข้อผูกมัดใดๆ แต่ต้องเป็นนักศึกษาที่เรียนดีและประสงค์จะประกอบอาชีพด้านวิทยาศาสตร์เพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทยต่อไปในอนาคต

9. โครงการเพชรทองกวาว

โครงการเพชรทองกวาว เป็นโครงการเพื่อสนับสนุนผู้มีความรู้ความสามารถสูง ทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์จึงได้จัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนซึ่งคัดเลือกจากนักเรียนที่ได้รับคัดเลือกเข้าโครงการเรียนดีของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในแต่ละปีการศึกษา โดยได้รับเงินทุนการศึกษาจำนวนหนึ่ง ตลอดหลักสูตร และเป็นทุนที่ไม่มีข้อผูกมัดใด ๆ

10. จำนวนนักเรียนรับเข้าพิเศษ - ในปีการศึกษา 2544 คณะวิทยาศาสตร์ ได้คัดเลือกนักเรียนในโครงการพิเศษต่างๆ ทุกโครงการทั้งสิ้น 67 คน ดังนี้

8.1 โครงการ พสวท.
8.2 โครงการ สควค.
8.3 โครงการ วคช.
8.4 โครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี
8.5 โครงการพัฒนาอัจฉริยภาพฯ
20 คน
40 คน
1 คน
5 คน
1 คน

11. การดำเนินงานโครงการพิเศษทุกโครงการ

การดำเนินงานตามโครงการ พสวท. วพ. วคช. สควค. และโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี คณะวิทยาศาสตร์ ได้มอบหมายให้คณะทำงานคณะหนึ่งเรียกว่า คณะทำงานโครงการ พสวท. วพ. รพค. สควค. และโครงการรับนักเรียนที่มีผลการเรียนดี ศูนย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีหน้าที่บริหารและดำเนินงานกิจกรรมต่างๆ ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ สำหรับปี 2544 มีกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว 2 กิจกรรม ดังนี้

  1. ร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ภาคฤดูร้อน ประจำปีการศึกษา 2543 สำหรับนิสิต นักศึกษา โครงการ พสวท. ทั่วประเทศระหว่างวันที่ 26-30 มีนาคม 2544 ณ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย เพื่อให้นิสิตนักศึกษาได้มีโอกาสศึกษาดูงานและปฏิบัติงานทางวิทยาศาสตร์นอกสถานที่ และศึกษาการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในหน่วยงานที่เกี่ยวกับงานวิทยาศาสตร์ ตลอดจนได้มีโอกาสทำงานร่วมกันและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นประสบการณ์ซึ่งกันและกัน และได้ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ

  2. ร่วมกิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์และปลูกฝังคุณลักษณะความเป็นครู สำหรับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 โครงการ สควค. ประจำปีการศึกษา 2543 ณ สวนบัวรีสอร์ท อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันราชภัฏเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นเจ้าภาพจัดเมื่อวันที่ 24-27 เมษายน 2544 เพื่อให้นักศึกษามีโอกาสศึกษาดูงานนอกสถานที่ในหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ ได้มีโอกาสทำงานร่วมกัน ตลอดจนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน และเตรียมความพร้อมที่จะออกไปเป็นครูวิทยาศาสตร์ในอนาคต


รายงานประจำปี 2544