การประกันคุณภาพการศึกษา

 


การดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ ในรอบปี 2545 ที่ผ่านมา ได้มีกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้นหลายกิจกรรม ภายใต้การดำเนินการของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาด้านต่างๆ โดยคณะอนุกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาด้านวิชาการ ด้านนักศึกษาและงานพัฒนานักศึกษา ด้านวิจัย ด้านบริหารและงบประมาณ ได้มีการประชุมอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาในแต่ละองค์ประกอบคุณภาพแต่ละด้านที่รับผิดชอบ มีการกำหนดกิจกรรม มาตรฐานของกิจกรรมและเงื่อนไขเวลาที่ต้องบรรลุ เช่น
1) ด้านการเรียนการสอน

1.1 การประเมินการสอนของอาจารย์โดยนักศึกษา

      • เริ่มนำระบบประเมินการสอนของอาจารย์แบบ online ทั้งภาคบรรยายและปฏิบัติการ ผ่านระบบ อินเทอร์เน็ต มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาด้านการใช้งานอยู่บ้างจึงได้กำหนดการ ติดตามและประเมินผลการใช้งาน เพื่อนำมาปรับปรุงระบบดังกล่าวทุกภาคการศึกษา

1.2 การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอน

      • สนับสนุนให้คณาจารย์มีการผลิตสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัย โดยให้ทุนสนับสนุนการผลิตสื่อการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ในปีการศึกษา 2545 ได้ให้การสนับสนุนทั้งสิ้น 11 กระบวนวิชา ในวงเงิน 313,000 บาท
      • นอกจากนี้ ยังให้การสนับสนุนงบประมาณในการใช้โปรแกรมเพื่อการบริหารจัดการรายวิชา(Knowledge Creator) ของสถานบริการเทคโนโลยีสารสนเทศ ในวงเงิน 30,000 บาท โดยในปี 2545 มีคณาจารย์สนใจใช้ Knowledge Creator จำนวน 15 กระบวนวิชา
      • เพิ่มรูปแบบการให้ทุนช่วยสอนเพิ่มเติมจากแบบให้ค่าตอบแทนเป็นรายชั่วโมง เป็นการให้ทุนการศึกษาเป็นรายภาคการศึกษาโดยให้ทุนสนับสนุนเป็นรายเดือนและเงินสมทบค่าใช้จ่ายในการลงทะเบียนเรียนในภาคการศึกษาปกติ และกำหนดให้มีการติดตามและประเมินผลทุกภาคการศึกษา เพื่อสนับสนุนบุคลากรช่วยงานสอนของคณาจารย์ และกระตุ้นให้นักศึกษาที่มีศักยภาพในการศึกษาต่อ เข้าศึกษาในคณะวิทยาศาสตร์ ตลอดจนสนับสนุนให้นักศึกษามีโอกาสฝึกประสบการณ์ในการทำงานด้านการสอนในระหว่างที่ศึกษา
      • เริ่มใช้ระบบตารางสอบแบบออนไลน์ ตั้งแต่ภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2544 (ตุลาคม 2544) โดยมีการใช้ฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างภาควิชาและงานบริการการศึกษา เพื่อให้เกิดความสะดวก รวดเร็วและลดความซ้ำซ้อนและความผิดพลาดของข้อมูล และผู้ใช้งานทุกฝ่ายทั้งในส่วนของคณะ ภาควิชา อาจารย์ ตลอดจนนักศึกษา สามารถเรียกดูข้อมูลได้จากระบบอินเทอร์เน็ต

1.3 การวัดและประเมินผล

      • ได้ปรับปรุงแบบรายงานการวัดและประเมินผล โดยเพิ่มการรายงานข้อมูลค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุด ค่าต่ำสุด ของการวัดผลกระบวนวิชานั้น และแจ้งให้ภาควิชานำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงการวัดผลของภาควิชา

1.4 อาจารย์

      • ได้จัดทำประกาศคณะวิทยาศาสตร์ เรื่อง การคิดภาระงานของอาจารย์ผู้สอนของคณะวิทยาศาสตร์ โดยกำหนดคิดภาระงานทั้งภาระงานสอนและภาระงานอื่นๆ ของอาจารย์ผู้สอน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันและสอดคล้องกับประกาศของ อ.ก.ม. มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่อง การกำหนดมาตรฐานภาระงานขั้นต่ำของอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย
      • จัดโครงการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้แก่คณาจารย์เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการจัดการเรียนการสอนในด้านต่างๆ ดังนี้
        1 กุมภาพันธ์ 2545 สัมมนาคณาจารย์ เรื่อง "การประเมินวิธีการวัดผล : การวิเคราะห์ข้อสอบ"
        14 กุมภาพันธ์ 2545 สัมมนาคณาจารย์ เรื่อง "การเรียนรู้ตลอดชีวิต : บทบาทอาจารย์ผู้สอนในมหาวิทยาลัย"
      • จัดโครงการพัฒนาระบบอาจารย์ที่ปรึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อนำไปเป้นข้อมูลในการพิจารณาปรับระบบระบบอาจารย์ที่ปรึกษาให้เหมาะสมกับการจัดการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์ และเพื่อเพิ่มพูนทักษะเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา โดยในรอบปีการศึกษาที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมทั้งสิ้น 2 กิจกรรม ได้แก่
        4 กุมภาพันธ์ 2545 สัมมนาอาจารย์ เรื่อง "การพัฒนาระบบอาจารย์ที่ปรึกษาระดับปริญญาตรี"
        1 เมษายน 2545 สัมมนาคณาจารย์ เรื่อง "การให้คำปรึกษาในเชิงรุกและเทคนิคการให้คำปรึกษาแก่นักศึกษา"

1.5 บุคลากรสนับสนุนวิชาการ

      • มีการจัดเสวนาวิชาการระหว่างบุคลากรสนับสนุนด้านวิชาการในระดับคณะและระดับภาควิชา เพื่อ รับทราบปัญหาที่เกิดขึ้นในการปฏิบัติงานด้านวิชาการ และหาแนวปฏิบัติร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา ตลอดจนเพื่อแลกเปลี่ยนปัญหา วิธีแก้ไข ถ่ายทอด แนะนำ แนวปฏิบัติหรือกลยุทธ์ในการทำงานให้แก่กันและกัน โดยในปีการศึกษาที่ผ่านมา มีการจัดเสวนาวิชาการจำนวน 2 ครั้ง ดังนี้ ครั้งที่ 1 วันที่ 17 พฤษภาคม 2545 และครั้งที่ 2 วันที่ 16 สิงหาคม 2545

2) ด้านนักศึกษาและงานพัฒนานักศึกษา
มีการปรับรูปแบบการจัดโครงการอบรมภาษาอังกฤษให้แก่นักศึกษาระดับปริญญาตรี จัดให้มีการแนะแนวอาชีพแก่นักศึกษาโดยการจัดปัจฉิมนิเทศนักศึกษา และจัดโครงการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมนักศึกษา ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาในด้านต่างๆ เช่น การจัดโครงการดนตรีชี้คุณธรรม การจัดบรรยายธรรมะพิเศษเรื่อง "รู้จริง รู้อย่างไร ใครคือผู้รู้จริง" โดยหลวงปู่พุทธอิสระ และโครงการพัฒนาผู้นำนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

3) ด้านการวิจัย
ได้วางแนวทางในการนำงานวิจัยไปสู่การบริการชุมชนให้มากขึ้น มีการจัดตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อบริการงานวิจัยแก่ชุมชน เช่น ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและอาหาร เพิ่มรูปแบบการให้บริการผ่านสถานบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น เพิ่มการสนับสนุนทุนวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอนให้แก่นักวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการวิจัยร่วมสาขา รวมทั้งส่งเสริม/ดำเนินงานวิจัยเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ โดยการให้ทุนนักศึกษาในโครงการนวัตกรรม ภายใต้การดูแลของอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ

4) ด้านบริหารและงบประมาณ
ได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากรทุกระดับอย่างต่อเนื่องทั้งระดับผู้บริหารคณะ/ภาควิชา ผู้บริหารระดับกลาง(หัวหน้างาน/หน่วย/เลขานุการภาควิชาฯ) ข้าราชการสาย ข/ สาย ค /ลูกจ้างประจำ/ลูกจ้างชั่วคราว โดยในรอบปีที่ผ่านมาได้จัดโครงการพัฒนาบุคลากร รวม 3 โครงการ รวมทั้งมีการดำเนินกิจกรรมการพัฒนาการบริหารงานด้วย 5 ส ตลอดทั้งปี

5) ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
มีการดำเนินการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมตลอดทั้งปี โดยในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้มีการสอดแทรกขนบธรรมเนียมประเพณีของท้องถิ่นไว้ในแต่ละกิจกรรม เช่น จัดพิธีแสดงมุฑิตาจิตแก่เกษียณอายุราชการ การรดน้ำดำหัวผู้อาวุโส การจัดกาดพื้นเมืองในเทศกาลสงกรานต์ และงานทำบุญประจำปีของคณะ นอกจากนี้ยังมีการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ไปประยุกต์ใช้ในภูมิปัญญาท้องถิ่น มีการจัดกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่น การตัดตุง ช่อกระดาษแบบล้านนา การทำโคมไฟ พิธีหล่อเทียนพรรษา

6) ด้านระบบและกลไกการประกันคุณภาพ
คณะวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาภายในคณะวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่อง โดยกิจกรรมในรอบปีที่ผ่านมา มีดังนี้

6.1 จัดสัมมนาคณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ เพื่อแจ้งความก้าวหน้าเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาระดับอุดมศึกษา การประเมินคุณภาพการศึกษา ตลอดจนสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา ที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 เรื่อง การเตรียมการเพื่อรองรับการประเมินคุณภาพการศึกษา ในวันที่ 27 ตุลาคม 2544 เวลา 8.30-13.00 น. ณ โรงแรมเชียงใหม่ฮิลล์ เชียงใหม่ โดยมีคณาจารย์ที่สนใจเข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 114 คน
6.2 ดำเนินการตรวจเยี่ยมการประกันคุณภาพการศึกษาระดับภาควิชา/สำนักงานเลขานุการ ประจำปี 2544 ในระหว่างวันที่ 6-25 ธันวาคม 2544 และได้ประเมินผลการดำเนินการแล้วเสร็จในวันที่ 29 มกราคม 2545 ผลสรุปจากการดำเนินการดังกล่าว ได้นำเสนอในที่ประชุมกรรมการประกันคุณภาพการศึกษาของคณะฯ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2545 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2545
6.3 เนื่องจากในปี 2545 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้พัฒนาการตรวจสอบระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษา ไปสู่การตรวจสอบและประเมินคุณภาพการศึกษา โดยปรับปรุงรายการตรวจสอบคุณภาพเดิมให้เป็นไปตามระบบ PDCA อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นรวมทั้งสิ้น 168 รายการ และพัฒนาตัวบ่งชี้คุณภาพการศึกษาจำนวน 61 ตัวบ่งชี้ เพื่อประกอบการพิจารณาระดับการพัฒนาคุณภาพและแนวทางการประเมิน 0-8 ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำหนด และกำหนดเริ่มตรวจสอบและประเมินระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาตั้งแต่ปีการศึกษา 2545 เป็นต้นไป
คณะวิทยาศาสตร์ได้ให้ความร่วมมือเป็นโครงการนำร่องการตรวจสอบและประเมินระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติสำหรับผู้ตรวจสอบและประเมินคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในระหว่างวันที่ 24-26 เมษายน 2545
6.4 คณะวิทยาศาสตร์รับการตรวจสอบและประเมินระบบและกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาในระหว่างวันที่ 29-31 กรกฎาคม 2545 ซึ่งผลการตรวจสอบฯ คณะวิทยาศาสตร์ได้รับการตรวจสอบและประเมินฯ ให้อยู่ในลำดับขั้น "ดี" โดยมีข้อเสนอแนะ/ข้อคิดเห็นและแนวทางการปรับปรุงพัฒนาบางประการจากคณะกรรมการตรวจสอบและประเมินฯ ที่คณะวิทยาศาสตร์จะได้นำไปใช้เป็นข้อมูลเพื่อปรับปรุงพัฒนาการดำเนินการด้านต่างๆ ของคณะต่อไป