บทสรุปสำหรับผู้บริหาร (Executive Summary)
ประเมินการบริหารงานของคณะวิทยาศาสตร์
(1 กุมภาพันธ์ 2545- 31 มกราคม 2546)
1 ด้านการบริหารงานตามพันธกิจ
การบริหารงานตามแผนปฏิบัติการ
(Action Plan)ในแต่ละพันธกิจส่วนใหญ่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยมีกิจกรรมที่ได้วางแผนและดำเนินการเสร็จสิ้นไปแล้ว
72% กิจกรรมที่กำลังดำเนินการ 19 % ส่วนกิจกรรมที่วางแผนไว้แล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการหรือกำลังจะดำเนินการเพียง
9.5%
สำหรับการประเมินการบริหารงานตามพันธกิจในเชิงคุณภาพมีข้อสรุปดังนี้
(ก) ด้านการพัฒนาคุณภาพการศึกษาและการผลิตบัณฑิต
การพัฒนากลไกการประกันคุณภาพการศึกษาของคณะวิทยาศาสตร์มีความชัดเจนและได้รับความร่วมมือในการดำเนินการอย่างจริงจังมากยิ่งขึ้นจากบุคลากรทุกระดับ
มีการวางแผน ดำเนินการตามแผน ประเมินแผน และ การนำผลการประเมินมาปรับปรุงในพันธกิจด้านต่างๆ
คณะฯพยายามดำเนินการจัดประชุมสัมมนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสร้างความเข้าใจในการดำเนินการประกันคุณภาพ
การวางกลไกให้มีการดำเนินการในพันธกิจต่างๆเพื่อมุ่งสู่คุณภาพ มีการเตรียมการเพื่อที่จะให้คณะวิทยาศาสตร์ได้ดำเนินการเทียบเคียงสมรรถนะในคุณภาพของพันธกิจด้านต่างๆกับสถาบันอื่นๆ
อย่างไรก็ตามการปรับการดำเนินงานของคณะฯมาสู่ระบบคุณภาพนั้น คณะยังจำเป็นต้องกระตุ้นให้บุคลากรในระดับต่างๆเกิดความมุ่งมั่นและร่วมมือกันพัฒนาองค์กรสู่คุณภาพอย่างจริงจังมากขึ้น
ตลอดจนกระตุ้นให้นักศึกษาและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ มาร่วมกันดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษามากยิ่งขึ้น
ด้านการพัฒนาการเรียนการสอน
คณะฯ กำหนดนโยบายและกระตุ้นให้อาจารย์จัดทำสื่อการสอนแบบออนไลน์เพื่อส่งเสริมให้มีแหล่งเรียนรู้ด้วยตนเองของนักศึกษามากขึ้นและยังเป็นการส่งเสริมให้อาจารย์และนักศึกษามีทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น
มีการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดทำฐานข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา
นักศึกษาและบัณฑิต ภาควิชาต่างๆ มีการประเมินและปรับปรุงหลักสูตร คณะฯ
มีการอบรมให้ความรู้แก่คณาจารย์ด้านการพัฒนาการเรียนการสอนและพัฒนานักศึกษา
มีการดำเนินการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาทั้งทางด้านการเสริมทักษะทางวิชาการ
การพัฒนาสุขพลานามัยและคุณธรรมจริยธรรมของนักศึกษา อย่างไรก็ตามคณะควรจัดให้มีแผนเชิงรุกในการพัฒนาคุณภาพนักศึกษาให้เป็นรูปธรรมและให้งานฝ่ายกิจการนักศึกษากับฝ่ายวิชาการมีความเชื่อมโยงกันอย่างชัดเจน
(ข) ด้านการวิจัย
ผลงานวิจัยและการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยในระดับนานาชาติเพิ่มขึ้นเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่งแต่คงต้องสร้างกลไกตลอดจนกระตุ้นให้มีการวิจัยและการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยอย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ยังมีนโยบายและการสนับสนุนให้บุคลากรของคณะทำวิจัยเพื่อพัฒนาการสอนและสื่อการสอนเพื่อให้บุคลากรของคณะฯที่มีความถนัดด้านการจัดเรียนการสอนมีโอกาสในการทำวิจัย
ช่วงต่อไปควรมุ่งเน้นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตรตลอดจนการหารายได้จาก
ทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตรอย่างเป็นรูปธรรม
คณะกำหนดนโยบายและแนวทางการวิจัยตามความเชี่ยวชาญของคณะอย่างชัดเจน
ต่อไปควรจัดให้มีแผนปฏิบัติการและกลไกตลอดจนการสนับสนุนให้เป็นรูปธรรม
ส่วนการจัดศูนย์เครื่องมือกลางควรพัฒนาให้เพิ่มขึ้นและมีแนวทางการบริหารจัดการเครื่องมือกลางรวมทั้งการบำรุงรักษาและการหารายได้ที่ชัดเจน
(ค) ด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชน
ปี
2545 นอกจากการบริการวิชาการแก่ชุมชนทางด้านการอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยี
และการบริการทางวิชาการและวิจัยตามปกติแล้ว คณะวิทยาศาสตร์ยังได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรภายนอก
เช่น สสวท. สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ มูลนิธิโอลิมปิกวิชาการ
เป็นต้น ในการพัฒนาโรงเรียน ครูและนักเรียน ให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ. การศึกษาแห่งชาติอย่างจริงจังซึ่งเป็นภาระกิจสำคัญทางด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชนที่คณะฯรับผิดชอบอยู่ในปัจจุบันนี้และการดำเนินการก็ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากองค์กรเหล่านั้นอย่างเพียงพอ
ซึ่งผลการดำเนินการเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป็นไปตามเป้าหมาย มีการจัดทำฐานข้อมูลด้านความต้องการ
(Demand) ของโรงเรียนและองค์การบริหารส่วนตำบลอย่างชัดเจนแต่ยังนำมาใช้ในการวางแผนและดำเนินการน้อย
ควรมีการใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวให้มากยิ่งขึ้น และ ควรปรับให้มีฐานข้อมูลด้านความต้องการของโรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น
การบริการวิชาการแก่ชุมชนผ่านสถานบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่(สวท.
มช.) มีมากขึ้นและเป็นระบบมากขึ้น แต่ต้องสร้างความเข้าใจกับบุคลากรในคณะวิทยาศาสตร์ในการบริการวิชาการผ่านสวท.
มช. ให้มากขึ้น นอกจากนี้มีการจัคศูนย์เครื่องมือกลางเพื่อการบริการทางวิชาการและการวิจัยอย่างมีประสิทธิภาพ
(ง) ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
นอกจากการจัดกิจกรรมด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของคณะฯตามปกติแล้ว
คณะฯเริ่มมีการจัดอบรมบุคลากรทางด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างมาตรฐานทางด้านนี้
รวมทั้งมีการรวบรวมผลงานวิจัยของบุคลากรคณะวิทยาศาสตร์ด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมด้วยซึ่งต่อไปควรจัดทำเป็นฐานข้อมูลที่สมบูรณ์
(จ) ด้านการบริหารจัดการ
คณะฯนำระบบการบริหารงานแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์มาใช้อย่างชัดเจนโดยผนวกเข้ากับการดำเนินการประกันคุณภาพการศึกษาของคณะ
ผู้บริหารมีการจัดทำแผนปฏิบัติงานที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และพันธกิจ
ดำเนินการ ตลอดจนพัฒนารูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นระบบมากยิ่งขึ้น
มีการนำผลการประเมินไปใช้ในการปรับปรุงแผนและการดำเนินงานอย่างชัดเจน
และนำระบบการบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์มาใช้ทั้งระดับคณะฯ
และภาควิชานอกจากนี้ยังได้นำระบบบัญชีพึงรับ-พึงจ่ายลักษณะ 3 มิติมาใช้อย่างเต็มรูปแบบ
อย่างไรก็ตามระบบการบริหารงานยังต้องอิงกับระบบราชการทำให้การบริหารงานและดำเนินการด้านงบประมาณประสบความล่าช้า
อีกทั้งมหาวิทยาลัยยังพัฒนาระบบบัญชีพึงรับ-พึงจ่ายลักษณะ 3 มิติไม่สมบูรณ์
ทำให้บุคลากรที่รับผิดชอบทั้งระดับคณะและภาควิชาต้องมีภาระงานเพิ่มขึ้นและบางครั้งประสบความยุ่งยากในการปฏิบัติงาน
ซึ่งผู้บริหารคณะที่เกี่ยวข้องต้องพยายามซักซ้อมความเข้าใจในการปฏิบัติงานอย่างต่อเนื่องทุกระดับ
วิเคราะห์ภาระการปฏิบัติงานและเสริมกำลังคนหากมีความจำเป็น ตลอดจนวางแนวทางในการพัฒนาทักษะของบุคลากรและสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรฝ่ายต่างๆ
อย่างชัดเจน
คณะฯ
นำระบบสารสนเทศมาใช้ในการตัดสินใจของผู้บริหาร และการดำเนินการบริหารมากขึ้น
แต่ยังคงต้องพัฒนาให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดเก็บเอกสารในระบบอิเล็กทรอนิคส์การสื่อสารไร้กระดาษ
เป็นต้น เพื่อใช้เทคโนโลยีมาสนับสนุนการบริหารงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
รวมทั้งการเน้นการประชาสัมพันธ์ในเชิงรุกเพื่อเผยแพร่ผลงานและประสานงานด้านประชาสัมพันธ์กับองค์กรภายนอกอย่างมีประสิทธิภาพ
2 ด้านผู้บริหาร
ผู้บริหารระดับคณะของคณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่บริหารงานโดยยึดถือแผนปฏิบัติการที่ได้ร่วมกันวางไว้อย่างสอดคล้องกับวิสัยทัศน์
พันธกิจอย่างเคร่งครัด จากการประเมินผลการ ปฎิบัติงานในช่วงปี 2544-2545
(เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2546) ตามแผนที่คณบดีมอบหมายให้รองคณบดี ผู้ช่วยคณบดีแต่ละฝ่ายรับผิดชอบส่วนใหญ่เป็นไปตามแผนที่วางไว้และแต่ละกิจกรรมก็มีการประเมินผลการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและพยายามปรับปรุงการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตามในช่วงปีที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์นำระบบการบริหารงานแบบใหม่
ได้แก่ การบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลงาน การนำระบบบัญชีพึงรับพึงจ่ายลักษณะ
3 มิติมาใช้เต็มรูปแบบ การประกันคุณภาพการศึกษาโดยการเทียบเคียงสมรรถนะ
ผู้บริหารแต่ละฝ่ายจึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะของตนเองมากยิ่งขึ้น ในช่วงปีที่ผ่านมาจึงได้สนับสนุนให้ผู้บริหารไปพัฒนาทักษะหลายด้าน
ได้แก่
- การพัฒนาผู้บริหารด้านการประกันคุณภาพโดยการเทียบเคียงสมรรถนะ
โดยมอบหมายให้ รองและผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการไปร่วมโครงการนำร่องด้านการประกันคุณภาพโดยการเทียบเคียงสมรรถนะร่วมกับทบวงมหาวิทยาลัยตลอดช่วงปี
2545
- การพัฒนาผู้บริหารด้านระบบบัญชีพึงรับ-พึงจ่ายลักษณะ
3 มิติ ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องได้แก่ คณบดี รองคณบดีฝ่ายบริหารและวางแผนไปเข้าอบรมร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ส่วนการบริหารงบประมาณแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ คณบดีได้ชี้แจงหลักการและวิธีดำเนินงานแก่ผู้บริหารทั้งระดับคณะและภาควิชา
และได้เริ่มนำร่องโดยการวางนโยบายและดำเนินการบริหารงบประมาณเงินรายได้จากค่าธรรมเนียมพิเศษแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์โดยให้มีการประเมินผ่านกรรมการประจำคณะฯ
- การพัฒนาผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและ ผู้จัดการระบบสารสนเทศของคณะวิทยาศาสตร์(ดร.
เอกรัตน์ บุญเชียง) เข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการพัฒนาระบบเครือข่ายและการจัดระบบฐานข้อมูล
- ด้านทรัพย์สินทางปัญญาและสิทธิบัตร
รองคณบดีและผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ไปร่วมสัมมนาทางด้านทรัพย์สินทางปัญญา
- การปฐมนิเทศหัวหน้าภาควิชาใหม่
เพื่อให้หัวหน้าภาคใหม่รับทราบนโยบายและแนวทาง การบริหารงานของคณะ
ตลอดจนชี้แจงเกี่ยวกับระเบียบ ข้อบังคับ และ ประกาศต่างๆที่เกี่ยวข้องเพื่อให้หัวหน้าภาคสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไปมีแผนที่จะสนับสนุนให้ผุ้บริหารทุกระดับของคณะวิทยาศาสตร์เพิ่มทักษะการบริหารงานยุคใหม่
ให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านกิจการนักศึกษาได้มีโอกาศดูงานด้านการพัฒนานักศึกษาและกิจการนักศึกษาเชิงรุกจากมหาวิทยาลัยทั้งภาครัฐและเอกชน
ตลอดจนการสนับสนุนให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ได้ไปเพิ่มทักษะด้านสนับสนุนการจดลิขสิทธิ์และสิทธิบัติจากงานวิจัยของคณาจารณ์ในคณะวิทยาศาสตร์มากขึ้น
ให้ผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ไปเพิ่มทักษะด้านการพัฒนาคณะเป็น
e-Faculty
3 กำหนดนโยบายและวางยุทธศาสตร์การบริหารงานในปี
2546-2547
3.1 ปรับโครงสร้างการบริหารงานในสำนักงานเลขานุการคณะฯให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของสภามหาวิทยาลัยและคณะฯ
-
เพิ่มเติมหน่วยงาน หน่วยเทคโนโลยีสารสนเทศ หน่วยประกันคุณภาพการศึกษา
หน่วยประชาสัมพันธ์ หน่วยพัฒนาบุคลากร
-
พัฒนาระบบการบริหารงบประมาณแบบ Performance-Based Budgeting ให้มากขึ้น
3.2 ปรับโครงสร้างระบบสารสนเทศเพื่อเตรียมพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์เป็น
e-Faculty
3.3 พัฒนาการจัดการเรียนการสอนเพื่อรองรับการเปิดหลักสูตรนานาชาติ
3.4 พัฒนาด้านการบริหารงานโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน
-
การพัฒนาบุคลากรการสื่อสารในองค์กร
-
ระบบการสนับสนุนบุคลากร
-
ระบบการจัดเก็บเอกสารแบบดิจิตอล
-
ระบบความปลอดภัย
3.5 พัฒนาคุณภาพนักศึกษาโดยให้มีการเชื่อมโยงระหว่างฝ่ายกิจการนักศึกษาร่วมกับฝ่ายวิชาการมากขึ้น
และให้นักศึกษามีความเข้าใจปรัชญา วิสัยทัศน์ และพันธกิจของคณะและมหาวิทยาลัย
และมีกิจกรรมด้านประกันคุณภาพของนักศึกษามากขึ้น
3.6 พัฒนาศูนย์เครื่องมือกลาง
ปรับระบบฐานข้อมูลทางการวิจัยให้สมบูรณ์และถูกต้อง การกระตุ้นให้มีการจดสิทธิบัตร
3.7 ส่งเสริมให้มีการแสวงหารายได้จากสิทธิบัตร
จากการบริการวิชาการและการวิจัย จากกองทุน
3.8 ให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
(Stakeholder) มีบทบาทและมีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์
การประเมินการบริหารงานดังกล่าวนี้ให้ผู้บริหารทุกท่านได้ใช้เป็นแนวทางในการปรับแผนปฏิบัติงาน
กำหนดเป้าหมาย และ ดำเนินการในช่วงปีต่อไป
(รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม)
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์
4 พฤษภาคม 2546
|