การบริการวิชาการแก่ชุมชนถือว่าเป็นพันธกิจที่สำคัญประการหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ ที่จะต้องนำองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มาถ่ายทอดสู่ชุมชน ตลอดจนสามารถนำมาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ นอกจากนี้ การบริการวิชาการแก่ชุมชนหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การถ่ายทอดองค์ความรู้หรือบริการวิชาการสู่ภาคธุรกิจอุตสาหกรรม ก็สามารถสร้างรายได้ให้แก่คณะวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งการสร้างรายได้จากการบริการวิชาการแก่ชุมชนนับว่าเป็นนโยบายที่สำคัญของคณะวิทยาศาสตร์ในด้านการพึ่งพาตัวเองได้ในอนาคต
คณะวิทยาศาสตร์ให้บริการวิชาการแก่สังคมหลายรูปแบบ (ดูภาคผนวกที่ 2) ได้แก่
(1) การถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์
- หลักสูตรการอบรมระยะสั้น
- วิทยากรรับเชิญ
- สิ่งตีพิมพ์ และเทคโนโลยีสารสนเทศ
(2) การบริการด้านเทคนิค
- การให้คำปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค
- การให้บริการระดับอาชีพ
(3) การเผยแพร่ผลงานทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
- การจัดแสดงนิทรรศการ
- การจัดประชุมระดับชาติ และนานาชาติ
- การจัดสัมมนา
คณะวิทยาศาสตร์ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกหลายหน่วยงาน อาทิ โครงการอบรมครูร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการค่ายโอลิมปิกวิชาการร่วมกับมูลนิธิ สอวน. โครงการความร่วมมือในการพัฒนาโรงเรียนร่วมกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี เป็นต้น
สถานบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
สถานบริการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (สวท-มช) ได้เริ่มดำเนินการมาตั้ง แต่ปี 2543 โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะวิทยาศาสตร์ บริหารงานโดยผู้อำนวยการสถานบริการวิทยาศาสตร์ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการวิชาการทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตลอดจนสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย และเพื่อนำรายได้ส่วนหนึ่งจากการให้บริการไปใช้ในการพัฒนาและเสริมสร้างคุณภาพทางวิชาการของคณะวิทยาศาสตร์ในทุก ๆ ด้าน
ผลการดำเนินงานในปี 2545 มีดังนี้
1. การบริการด้านการวิเคราะห์ ทดสอบและสอบเทียบ สวท-มช โดยได้รับการสนับสนุนด้านครุภัณฑ์จากคณะวิทยาศาสตร์ สำหรับให้บริการทางด้านจุลชีววิทยา ส่วนการวิเคราะห์อื่น ๆ ได้รับความร่วมมือจากภาควิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในคณะวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังให้บริการด้านกล้องจุลทรรศนอิเล็กตรอน
2. งานเทคโนโลยีสิ่งพิมพ์ ได้ให้บริการแก่องค์กรของภาครัฐและเอกชนทั้งในภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย
3. นักวิจัยคณะวิทยาศาสตร์ได้ขอจดทะเบียนอนุสิทธิบัตรจากรมทรัพย์สินทางปัญญาดังนี้
- "กรรมวิธีการทำธูปหอมจากเปลือกลำไย" หัวหน้าโครงการ ผศ.ดร. นวลศรี รักอริยะธรรม จากภาควิชาเคมี
- สิทธิบัตรประดิษฐ์ "อุปกรณ์เก็บรวบรวมน้ำยางมะละกอ" ผู้ประดิษฐ์ รศ.ดร.ภาวิณี คณาสวัสดิ์ จากภาควิชาเคมี และคณะ
- สิทธิบัตรประดิษฐ์ "วิธีการทำแห้งน้ำยางมะละกอด้วยกระแสลมร้อนในแนวราบเพื่อการผลิตปาเปน" ผู้ประดิษฐ์ รศ.ดร. ภาวิณี คณาสวัดิ์ จากภาควิชาเคมี และคณะ
- สิทธิบัตรประดิษฐ์ "เตาอบลมร้อน" ผู้ประดิษฐ์ รศ.ดร. ภาวิณี คณาสวัสดิ์ จากภาควิชาเคมี และคณะ
- งานอยู่ระหว่างขออนุสิทธิบัตร "การเตรียมสีย้อมโครโมโซมจากสารสกัดข้าวเหนียวดำ" หัวหน้าโครงการ ผศ. หัทยา กาวีวงศ์ จากภาควิชาชีววิทยา
การจัดทำวารสารและจุลสาร
คณะวิทยาศาสตร์ ได้จัดทำวารสารเพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ CHIANG MAI JOURNAL OF SCIENCE เป็นวารสารที่มีกำหนดพิมพ์ทุก 6 เดือน จัดเป็นวารสารที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ โดยได้รับการบรรจุไว้ในฐานข้อมูล Chemical Abstracts จึงกล่าวได้ว่า วารสารนี้เป็นเวทีหนึ่งของนักวิจัยทั้งในและนอกมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากนี้ คณะวิทยาศาสตร์ได้จัดพิมพ์จุลสาร "วิทยาสาร" เป็นประจำทุก 2 เดือน เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์แก่ชุมชน โดยจัดส่งให้แก่โรงเรียนต่างๆ ในเขตภาคเหนือ และส่วนราชการ นอกจากนี้ ยังได้บรรจุจุลสารดังกล่าวลงใน web site ของคณะวิทยาศาสตร์ www.science.cmu.ac.th
|