สรุปผลการดำเนินงานของภาควิชาคณิตศาสตร์ ประจำปี 2546                             

1. ประมวลผลการดำเนินงานตามพันธกิจโดยสรุป

ภาควิชาคณิตศาสตร์มีบุคลากรตำแหน่งอาจารย์ ทั้งข้าราชการและพนักงานรวมทั้งสิ้น 34 คน และมีฝ่ายสนับสนุนวิชาการ 3 คน
คณาจารย์มีคุณวุฒิ ในสัดส่วน ปริญญาเอก : ปริญญาโท : ปริญญาตรี = 11 : 20 : 3
และมีตำแหน่งทางวิชาการ ในสัดส่วน ศ : รศ : ผศ : อ = 2 : 9 : 9 : 14
ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้ดำเนินงานตามพันธกิจของคณะและมหาวิทยาลัยในช่วงเดือนตุลาคม 2545 - กันยายน 2546 มีผลการดำเนินงานในแต่ละด้านดังนี้

ด้านการเรียนการสอน

ภาควิชาคณิตศาสตร์ได้ดำเนินการสอนในหลักสูตรระดับปริญญาตรีสาขาคณิตศาสตร์ระดับบัณฑิตศึกษา สาขาวิชาคณิตศาสตร์ และสาขาวิชาคณิตศาสตร์ประยุกต์ มีนักศึกษาในสังกัดวิชาเอก รวมทั้งสิ้น 208 คน จำแนกได้เป็น นักศึกษาระดับปริญญาตรี 158 คน ระดับปริญญาโท สาขาคณิตศาสตร์ และสาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์ 42 คน และระดับปริญญาเอก 8 คน นอกจากนี้แล้วภาควิชายังรับผิดชอบเปิดสอนกระบวนวิชาพื้นฐานให้กับนักศึกษาคณะต่างๆ ในหลักสูตรปกติ หลักสูตรภาคพิเศษและหลักสูตรนานาชาติ ในหลักสูตรปกติบริการนักศึกษาทั้งสิ้น 5,564 คน กระบวนวิชาที่เปิดสอน รวมทั้งสิ้น 120 กระบวนวิชา

ด้านการวิจัย
ภาควิชาได้ส่งเสริมและสนับสนุนหาแหล่งงบประมาณ ทั้งภายในมหาวิทยาลัยและภายนอกให้คณาจารย์ได้มีผลงานวิจัย เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้คณาจารย์ได้นำผลงานดังกล่าวมาพัฒนาการเรียนการสอน และเป็นแนวทางการวิจัยเพิ่มเติม รวมทั้งเป็นแรงกระตุ้นให้ คณาจารย์ใหม่ๆ ได้ศึกษาค้นคว้า และขยายผลต่อไป ภาควิชาจึงได้กำหนดแนวทางการวิจัยให้ชัดเจนเป็น 2 แนวทางคือ การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ และการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

การวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ มีกลุ่มวิจัยดังนี้

1. กลุ่มวิจัย Fixed Point Theory of Banach Spaces นำโดย ศ.ดร.สมพงษ์ ธรรมพงษา
2. กลุ่มวิจัย Distribution Theory and Partial Differential Operators นำโดย ศ.อำนวย ขนันไทย
3. กลุ่มวิจัย Geometric Property of Banach Spaces นำโดย รศ.ดร.สุเทพ สวนใต้
4. กลุ่มวิจัย Universal Algebra นำโดย ผศ.ดร.ศรีจันทร์ อาวรณ์
5. กลุ่มวิจัย Graph Theory and Combinatorics นำโดย รศ.ดร.วิเทศ ลงกาณี
6. กลุ่มวิจัย Complex Analysis and Control Theory นำโดย อ.ดร.ปิยะพงศ์ เนียมทรัพย์
7. กลุ่มวิจัย Modeling and Applications นำโดย รศ.ทศพร จันทร์คง
8. กลุ่มวิจัย Ring and Module Theory นำโดย รศ.จินตนา แสนวงศ์

การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน

งานวิจัยในส่วนนี้ได้รับงบประมาณจากคณะและมหาวิทยาลัย เพื่อสร้างสื่อการเรียนการสอนจำนวน 2 เรื่อง คือ
1. สื่อการสอนแบบออนไลน์ประกอบการสอนกระบวนวิชา 206104 โดยผศ.มัลลิกา ถาวรณ์อธิวาสน์ และคณะ
2. โฮมเพจชุดวิชาแคลคูลัสระดับอุดมศึกษาปีที่ 1 โดยรศ.ดร.สุเทพ สวนใต้ และคณะ

ผลงานโดยรวมของนักวิจัยในภาควิชาคณิตศาสตร์ สรุปได้ดังนี้

1. ผลงานได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติ จำนวน 20 เรื่อง
2. นักวิจัย ได้รับทุนเมธีวิจัยอาวุโส 1 ทุน ได้รับทุนองค์ความรู้ใหม่จาก สกว. 1 ทุน
                ได้รับทุนเมธีวิจัย จาก สกว. 2 ทุน ได้รับทุนจากสภาวิชัยแห่งชาติ 1 ทุน
3. นักวิจัยได้รับรางวัลชมเชยจากสภาวิจัยแห่งชาติ 1 คน
4. นักวิจัยได้รับทุนปริญญาเอกกาญจนาภิเษกจำนวน 7 ทุน
5. การเสนอผลงานวิจัยในที่ประชุมนานาชาต
5.1 มีการเสนอผลงานที่ประเทศโปแลนด์ จำนวน 4 คน ได้รับ ทุนสกว. 1 คน ทุนของทบวงมหาวิทยาลัย 2 คน และรับทุนจากคณะวิทยาศาสตร์ 1 ทุน
5.2 มีนักวิจัยได้รับเชิญเป็นวิทยากรรับเชิญในการประชุมนานาชาติที่ประเทศอินโดนีเซีย 1 คน
6. นักวิจัยกลุ่ม Universal Algebra จำนวน 2 คน ไปร่วมทำวิจัยทาง Algebraic Graph Theory กับนักวิจัยต่างประเทศที่ประเทศสาธารณรัฐเยอรมัน และได้แนวทางการทำวิจัยในห้วข้อดังกล่าวให้กับกลุ่มวิจัย และนักศึกษาปริญญาโท
7. นักวิจัยของภาควิชาคณิตศาสตร์ 2 คน ได้รับมอบหมายจากสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยให้จัดทำวารสาร Thai Journal of Mathematics เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยทางคณิตศาสตร์ของนักวิจัยทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะเป็นเวทีให้แก่นักวิจัยหน้าใหม่เพื่อพัฒนาสร้างความเข้มแข็งยิ่งขึ้น วารสารดังกล่าวจัดพิมพ์ที่โรงพิมพ์ของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
8. มีการจัดประชุมทางวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง "The 11thInternational Conference on Finite or Infinite Dimensional Complex Analysis and Applications" สร้างความร่วมมือในการทำวิจัยกับนักวิจัยชาวต่างประเทศ 1 คน

ด้านการบริการวิชาการแก่ชุมชน

ภาควิชาคณิตศาสตร์ ได้ดำเนินกิจกรรมบริการวิชาการแก่ชุมชนโดยความร่วมมือของคณาจารย์ในภาควิชาได้แก่ การอบรมโอลิมปิกวิชาการคณิตศาสตร์ค่าย 1 (6 - 20 ตค. 2545) จัดสอบคณิตศาสตร์ของสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทย (1 ธค. 2545) อบรมครูระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย เรื่อง "คณิตศาสตร์และสถิติกับวิถีชุมชน" (17 - 21 มี.ค 2546) อบรมอาจารย์ระดับอุดมศึกษา เรื่อง "ทฤษฎีกราฟและการประยุกต์" (17 - 21 มี.ค 2546) อบรมครูระดับมัธยมศึกษาตอบปลาย ร่วมกับ สสวท. หลักสูตร 1 (21 เม.ย - 2 พ.ค 46)

ด้านการพัฒนาคุณภาพนักศึกษา
ภาควิชาได้ดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพนักศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและระดับบัณฑิตศึกษา โดยในระดับปริญญาตรีกิจกรรมส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมเพื่อเสริมความรู้ความเข้าใจในหลักสูตร การเลือกเรียนกระบวนวิชาเอก การค้นคว้าอิสระ การเตรียมตัวเพื่อการทำงาน เสริมทักษะด้านคอมพิวเตอร์
ในระดับบัณฑิตศึกษาได้จัดกิจกรรมเสริมความรู้ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อสืบค้นวารสาร อบรมการใช้โปรแกรม LATEX เพื่อช่วยในการพิมพ์วิทยานิพนธ์

ด้านการทำนุบำรุงศิลปะวัฒนธรรม
คณาจารย์ในภาควิชาได้ร่วมอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมล้านนา ด้วยการแต่งชุดไทยทุกวันศุกร์ตามนโยบายของคณะ และได้ร่วมกับนักศึกษาของภาควิชาไปเยือนบ้านธรรมปกรณ์

2. จุดแข็ง - จุดอ่อน ความสำเร็จ ความคุ้มค่าคุ้มทุน

จุดแข็ง
1. มีนักวิจัยในสาขาคณิตศาสตร์ที่มีผลงานตีพิมพ์ในระดับนานาชาติจำนวนมากเป็นอันดับ 1 ของประเทศ
2. มีกลุ่มวิจัยทีมีความร่วมมือในการทำวิจัยกับนักวิจัยชาวต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง
3. มีงบประมาณพอเพียงสำหรับการสนับสนุนให้คณาจารย์ไปเสนอผลงานทั้งในและต่างประเทศ
จุดอ่อน
1. คณาจารย์ที่มีตำแหน่งทางวิชาการยังมีผลงานตามภาระงานต่ำกว่าเกณฑ์
2. คณาจารย์มีภาระงานสอนและกิจกรรมอื่นๆมาก ทำให้มีเวลาในการทำวิจัยน้อย
ความสำเร็จ คุ้มค่า คุ้มทุน
การดำเนินงานในด้านการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สำหรับ
การผลิตสื่อเพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอนกำลังดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง การดำเนินงานในด้านอื่นๆประสบความสำเร็จ คุ้มค่าและคุ้มทุน

3. แนวทางการพัฒนาตนเอง ยังไม่มี

4. แนวทางการพัฒนาในอนาคตตามนโยบายของคณะวิทยาศาสตร์ และมหาวิทยาลัย
1. สนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้มากขึ้น
2. สร้างกลุ่มวิจัยเชิงบูรณาการเพื่อตอบสนองความต้องการของท้องถิ่น
3. สนับสนุนการผลิตสื่ออิเล็กทรอนิกส์ประกอบการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ ช่วยเสริมให้นักศึกษาได้ค้นคว้าและศึกษาด้วยตนเอง