ปีนี้นับเป็นปีที่ 4 ของการบริหารงานในคณะวิทยาศาสตร์สำหรับผู้บริหารชุดนี้
ช่วงของการบริหารงานทั้ง 4 ปีนั้น คณะผู้บริหารได้ดำเนินการตามวิสัยทัศน์
พันธกิจ และเป้าหมายที่บุคลากรในคณะวิทยาศาสตร์ได้ร่วมกันกำหนดไว้ รวมทั้งการดำเนินการในหลายๆด้านเพื่อสนองนโยบายของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ท้องถิ่น และประเทศ รวมทั้งการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการปรับสถานภาพของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่สู่การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ
ตลอดจนการแสวงหาและให้ความร่วมมือกับสถาบันและองค์กรต่างๆในระดับนานาชาติเป็นจำนวนมากเพื่อเสริมวิสัยทัศน์สู่ความเป็นสากลของคณะวิทยาศาสตร์
และปี 2547ยังเป็นปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อคณะวิทยาศาสตร์ เนื่องจากเป็นปีที่คณะวิทยาศาสตร์มีอายุครบรอบ
40 ปี นับตั้งแต่ปี 2507ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ตั้งคณะวิทยาศาสตร์ซึ่งเป็น
1 ใน 3 คณะแรกของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขึ้นมา ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์มีการพัฒนาด้านการจัดการเรียนการสอน
การวิจัย และการบริการวิชาการแก่ชุมชนตลอดจนการเป็นที่พึ่งทางวิชาการแก่สังคมมาเป็นอย่างดีโดยตลอดจนเป็นที่ยอมรับจากภายในมหาวิทยาลัยเอง
ท้องถิ่น ประเทศ และนานาชาติในปัจจุบัน
ในปีนี้ คณะวิทยาศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณอย่างล้นพ้นจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดอาคาร
40 ปีคณะวิทยาศาสตร์ และศูนย์วิจัยและบริการจุลทรรศนศาสตร์อิเล็กตรอน
เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2547 เสด็จพระราชดำเนินมาทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์วิจัยนิวตรอนพลังงานสูงและเทคโนโลยีไอออนบีม
เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2547 และเสด็จพระราชดำเนินมาเปิดศูนย์ศึกษาดาราศาสตร์ภาคเหนือ
ณ หอดูดาวสิรินธร มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 นับเป็นศิริมงคลเป็นอย่างสูงแก่คณะวิทยาศาสตร์ในโอกาสฉลองครบรอบ
40 ปี อีกทั้งยังมีนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลถึง 9 ท่านมาบรรยายพิเศษที่คณะวิทยาศาสตร์ในช่วงปีนี้
นับเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่คณะฯได้รับเกียรติต้อนรับนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลทุกท่าน
นอกจากนี้คณะวิทยาศาสตร์ยังมีโอกาสต้อนรับ พณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ที่มาเยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์วิจัยนิวตรอนพลังงานสูงและเทคโนโลยีไอออนบีมในวันที่
10 เมษายน 2547 อีกด้วย
การบริหารงานอย่างเป็นระบบโดยโดยใช้หลักการบริหารคุณภาพแบบถ้วนทั่วองค์กร
(Total Quality Management) และ ระบบการเทียบเคียงสมรรถนะ (Benchmarking)
รวมทั้งการบริหารงานเชิงยุทธศาสตร์ และการประเมินความก้าวหน้าของแผนงานและแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง
ตลอดจนผลลัพธ์และผลผลิต ทำให้คณะวิทยาศาสตร์ได้รับการประเมินคุณภาพจากมหาวิทยาลัยอยู่ในระดับดีมาก
(84.5%) ในพันธกิจด้านการผลิตบัณทิตนั้น คณะฯพยายามรับนักศึกษาให้เป็นไปตามเป้าหมายทั้งในระดับปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษา
อย่างไรก็ตามยังต้องพยายามให้จำนวนบัณฑิตสำเร็จการศึกษาภายในระยะเวลาที่กำหนดเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้คณะฯยังส่งเสริมให้คณาจารย์ผลิตตำราและบทเรียนออนไลน์ ตลอดจนจัดอบรมทางด้านเทคนิคการจัดการเรียนการสอน
รวมทั้งการปรับปรุงหลักสูตรในระดับปริญญาตรีทุกหลักสูตรให้สอดคล้องกับปรัชญาของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
สำหรับในระดับบัณฑิตศึกษาได้มีความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาต่างประเทศเป็นจำนวนมากและพัฒนาหลักสูตรเพื่อให้การผลิตบัณฑิตสู่ระดับสากลมากขึ้น
สำหรับการวิจัยและการบริการวิชาการแก่ชุมชน คณะวิทยาศาสตร์เน้นการดำเนินการในโครงการต่างๆที่ตอบสนองนโยบายของมหาวิทยาลัย
ท้องถิ่นและประเทศ มีการกำหนดยุทธศาสตร์ด้านการวิจัยไว้อย่างชัดเจน ตลอดจนกำหนดนโยบายในการจัดทำโครงการบูรณาการด้านการบริการวิชาการที่สอดคล้องกับนโยบายของประเทศโดยคำนึงถึงศักยภาพและความพร้อมของคณะวิทยาศาสตร์
อันเป็นผลให้ปีที่ผ่านมา คณะวิทยาศาสตร์ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภายนอกทั้งโครงการบูรณาการและโครงการวิจัยอื่นๆเป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง โครงการศูนย์วิจัยและบริการวิทยานาโนและเทคโนโลยีนาโน
โครงการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ จีโนมพืชเศรษฐกิจ ศูนย์วิจัยน้ำบาดาล
และ โครงการบริษัทเสมือน นอกจากนี้คณาจารย์ของคณะวิทยาศาสตร์หลายท่านยังได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติในระดับประเทศและนานาชาติอันเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความยอมรับของสังคมที่มีต่อบุคลากรของคณะวิทยาศาสตร์
มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สำหรับการสนองนโยบายในการปฏิรูปการศึกษาด้านการบริการวิชาการแก่สังคม
คณะวิทยาศาสตร์ได้ให้ความร่วมมือกับองค์กรภายนอก อาทิ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มูลนิธิโอลิมปิกวิชาการในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นต้นในการอบรมครู
จัดค่ายวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียน ตลอดจนการสร้างเสริมมาตรฐานด้านการจัดการเรียนการสอนให้แก่โรงเรียนและการจัดทำระบบสารสนเทศด้านวิชาการให้แก่โรงเรียน
คณะผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์ขอขอบคุณบุคลากรทุกท่านที่ให้การสนับสนุนการบริหารงานของคณะฯและมุ่งมั่นในการดำเนินการตามพันธกิจจนบรรลุเป้าหมายที่ได้วางไว้เป็นอย่างดี
ความเข้มแข็งของคณะวิทยาศาสตร์จะเป็นส่วนที่ส่งเสริมความเข้มแข็งทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่และของประเทศต่อไปในอนาคต
รองศาสตราจารย์ บุญรักษา สุนทรธรรม
คณบดีคณะวิทยาศาสตร์
|