โครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษา
ตามที่ทบวงมหาวิทยาลัยได้มีโครงการเร่งรัดการผลิตบัณฑิตทางวิศวกรรมศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยได้เริ่มดำเนินการเพิ่มจำนวนนักศึกษารับเข้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2532 และ พ.ศ.2535 มาอย่างต่อเนื่องนั้น ทบวงมหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความจำเป็นในการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ ให้เพียงพอต่อการจัดการเรียนการสอนนักศึกษาที่รับเพิ่มขึ้น จึงได้จัดทำโครงการเงินกู้เพื่อพัฒนาการจัดการศึกษา สาขาวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ของทบวงมหาวิทยาลัย ซึ่งไม่เพียงแต่การ จัดหางบประมาณเพื่อสนับสนุนการจัดหาครุภัณฑ์วิทยาศาสตร์เท่านั้น วัตถุประสงค์ของโครงการยังครอบ-คลุมไปถึงการพัฒนาศักยภาพ และเสริมสร้างขีดความสามารถของบุคลากรที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนในคณะวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เป้าหมายการผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ประสบผลสำเร็จทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยมีวงเงินที่ขอกู้จากธนาคารโลกทั้งสิ้นประมาณ 143.4 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีงบประมาณสมทบจากรัฐบาลไทยอีกประมาณ 2,189.49 ล้านบาท
คณะวิทยาศาสตร์ ได้เข้าร่วมโครงการนี้ตั้งแต่ปี 2536 โดยมีสาขาวิชาที่เข้าร่วมโครงการ 9สาขาวิชา คือ ชีวเคมี ชีววิทยา เคมี วิทยาการคอมพิวเตอร์ ธรณีวิทยา เคมีอุตสาหกรรม จุลชีววิทยา ฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ และสัตววิทยา ได้รับจัดสรรงบประมาณรวมทั้งสิ้น 5,769,337 เหรียญสหรัฐ และได้เสนอขอจัดซื้อครุภัณฑ์ในระยะแรกแล้วรวม 657,551.91 เหรียญสหรัฐ โดยสำนักงานโครงการเงินกู้ ทบวงมหาวิทยาลัย (Procurement Implementation Unit) ซึ่งเป็นหน่วยประสานงานด้านการจัดซื้อครุภัณฑ์โดยเฉพาะ ได้กำหนดเป้าหมายการจัดซื้อครุภัณฑ์ให้เสร็จสิ้นภายในปี 2544
การดำเนินกิจกรรมของโครงการดังกล่าวได้รับสนับสนุนจากโครงการ AusAid ซึ่งได้ร่วมก่อตั้งโครงการความร่วมมือทางวิชาการไทย-ออสเตรเลีย ด้านวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ (TASEAP : Thailand - Australia Science and Engineering Assistance Project) เพื่อเป็นองค์กรที่ปรึกษาและประสานงานในเรื่องของแผนการจัดทำคำขอ การจัดซื้อครุภัณฑ์ และการกำหนด กิจกรรมพัฒนาการเรียนการสอนในสาขาวิทยาศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ได้เสนอผู้เชี่ยวชาญทางการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์ฝ่ายไทย เพื่อเข้าร่วมเป็นกรรมการบริหารงานในโครงการดังกล่าวแล้ว โดยในส่วนของความช่วยเหลือทางด้านวิชาการนั้นมีเป้าหมายในกิจกรรมต่าง ๆ ดังนี้ คือ การพัฒนาและยกระดับหลักสูตรวิทยาศาสตร์ การยกระดับความรู้ในเชิงเนื้อหาและทักษะการสอน การปรับปรุงความรู้และทักษะด้านการวิจัย การพัฒนาทรัพยากรในการสอนและอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการ การยกระดับความสามารถและทักษะบุคลากรฝ่ายสนับสนุน การยกระดับความสามารถและทักษะด้านภาษาอังกฤษ รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยไทย-ออสเตรเลียอย่างยั่งยืนต่อไป