คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขอแสดงความยินดีกับผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยกานต์ เลียวหิรัญ อาจารย์ประจำภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ ที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นหนึ่งในตัวแทนนักวิจัย 20 คนของประเทศไทย และยังเป็นตัวแทนอาจารย์/นักวิจัยของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้าร่วมโครงการพัฒนาความเชี่ยวชาญสำหรับนักวิจัยรุ่นกลาง (Professional Development Programme-Mid Career Researchers) ซึ่งจัดโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และบริติชเคานซิล (British Council) ของประเทศไทยและประเทศสหราชอาณาจักร
โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนักวิจัยรุ่นกลางของประเทศไทย หรือนักวิจัยที่มีประสบการณ์การวิจัยในช่วง 5-10 ปี โดยต้องเป็นนักวิจัยที่เคยได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจาก สกว. และได้ดำเนินการปิดโครงการแล้วอย่างสมบูรณ์ เพื่อพัฒนาคุณสมบัติเข้าสู่การเป็นนักวิจัยรุ่นกลางต่อไปในอนาคต ซึ่งจะต้องพัฒนาทักษะการบริหารจัดการงานวิจัยที่ซับซ้อนในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง พัฒนาการทำงานร่วมกันระหว่างประเทศ สร้างเครือข่ายงานวิจัยนานาชาติอย่างมืออาชีพและมีประสิทธิภาพ พัฒนาแนวคิดสำหรับการบริหารจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาประเทศด้วยงานวิจัยที่สามารถต่อยอดได้จริงและยั่งยืน ภายใต้การจัดกิจกรรมตลอดระยะเวลาของโครงการ
หลักสูตรการอบรมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ อบรมโดยผู้เชี่ยวชาญจากสหราชอาณาจักร ณ กรุงเทพฯ เป็นเวลา 3 วัน ระหว่างวันที่ 16-18 มีนาคม 2558 และฝึกอบรมในประเทศสหราชอาณาจักร เป็นเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 23-27 มีนาคม 2558 ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยกานต์ ได้มีบทบาทในการสัมมนา ได้นำเสนอและแลกเปลี่ยนแนวคิดด้านงานวิจัย อีกทั้งยังได้เดินทางไปเยี่ยมชมการบริหารจัดการงานวิจัยจากหน่วยงาน องค์กร และมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงของประเทศสหราชอาณาจักรหลายแห่ง ได้แก่ University of East Anglia (UEA), Norwich, Cass Business School, City University London, University of Sussex, Brighton, University of Kent, Canterbury, Norwich Research Park, Norfolk and Norwich University Hospital, Faculty of Medicine & Health Sciences, John Innes Centre และ Institute of Food Research
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยกานต์ กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้ก่อให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ แนวคิดใหม่ด้านงานวิจัยที่สามารถพัฒนาและต่อยอดไปได้อีกมากมายหลายแขนง โดยสามารถนำองค์ความรู้พื้นฐานที่มีอยู่ไปพัฒนาสู่องค์ความรู้บูรณาการ เพื่อก่อให้เกิดงานวิจัยที่สามารถนำไปใช้ได้จริงและเกิดความยั่งยืนจากหลากหลายสาขา ได้ตามวัตถุประสงค์ของการจัดโครงการ นอกจากนี้ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ชัยกานต์ ยังมีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยทางวัสดุศาสตร์ ในหัวข้อ “The Research and Its Impact on Thai Society” โดยนำเสนอส่วนหนึ่งของงานวิจัยที่ทำให้ตนได้รับรางวัล TRF-CHE Young Scopus Researcher Award 2014 ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างวัสดุนาโนบนพื้นฐานขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์นาโนในการพัฒนาสู่เทคโนโลยีอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่ตนเองมีความเชี่ยวชาญ ณ University of East Anglia (UEA) และหน่วยงาน British Council อีกด้วย
วันที่ : 8 เม.ย. 2015