อาจารย์ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มช. เข้ารับโล่และร่วมงานเลี้ยงแสดงความยินดีในโอกาสที่ได้รับคัดเลือกให้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2560

         ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ารับโล่แสดงความยินดีและร่วมงานเลี้ยงแสดงความยินดี เนื่องในโอกาสที่ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ในมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็นผู้สมควรได้รับ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2560” โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สัมพันธ์ สิงหราชวราพันธ์ รักษาการแทนรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และรองศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ ร่วมแสดงความยินดีด้วย เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 ณ เซ็นทาราแกรนด์เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

โดยผู้ที่ได้รับ “รางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2560” จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมเงินรางวัล 100,000 บาท 

สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ได้ก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ในปี พ.ศ. 2526 เพื่อผลักดันให้เกิดรางวัล “นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น” ขึ้น และเนื่องจากทางมูลนิธิฯ ได้พิจารณาเห็นว่ามีนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่จำนวนหนึ่งที่มีศักยภาพสูง มีผลงานที่มีคุณภาพ สมควรได้รับการสนับสนุนและให้กำลังใจในการทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถสะสมผลงานที่มีคุณภาพและพัฒนาไปสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในอนาคต จึงได้จัดให้มีรางวัล “นักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่” ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2534 เป็นต้นมา อีกทั้งเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติผลงานของนักวิทยาศาสตร์ไทย อันจะเป็นแบบอย่างให้แก่เยาวชนได้เจริญรอยตาม

สำหรับปีนี้ คณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บูรภัทร์ อินทรีย์สังวร อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 4 ผู้ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี พ.ศ. 2560 จากผลงาน “ตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง...สู่สังคมปลอดมลพิษ” โดยงานวิจัยนี้ได้มุ่งเน้นการเสาะหาวิธีสังเคราะห์และการประยุกต์ใช้สารประกอบตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสง ในกระบวนการการกำจัดสารปนเปื้อนในน้ำ รวมถึงการสังเคราะห์สารอินทรีย์ที่มีมูลค่าต่างๆ สารประกอบตัวเร่งปฏิกิริยาเหล่านี้เมื่อได้รับพลังงานจากแสงอาทิตย์ จะช่วยทำให้เกิดปฏิกิริยาเร่งด้วยแสง (Photocatalysis) ที่มีประสิทธิภาพในย่อยสลายสารอินทรีย์ในน้ำ หรืออาจนำมาประยุกต์ใช้ในการสังเคราะห์สารอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าได้เช่นกัน

อย่างไรก็ดี การสังเคราะห์ตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าวที่ให้ความหลากหลายและเหมาะสมต่อการประยุกต์ใช้งานแต่ละประเภทยังคงเป็นไปได้ค่อนข้างยากและซับซ้อนในปัจจุบัน ทางห้องปฏิบัติการวิจัยตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงของ ผศ.ดร.บูรภัทร์และทีมวิจัย จึงได้พยายามค้นคว้าหาเทคนิคและแนวทางในการสังเคราะห์แบบใหม่ๆ รวมทั้งการสร้างสารประกอบคอมโพสิตระดับนาโน (Nanocomposite) เพื่อมาเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงที่มีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยงานวิจัยด้านนี้  ผศ.ดร.บูรภัทร์ได้ดำเนินการต่อเนื่องมายาวนานกว่า 7 ปี และถึงแม้จะยังคงเป็นนักวิจัยรุ่นใหม่ แต่ก็มีผลงานวิจัยเป็นที่ประจักษ์และยอมรับในวงการวิจัยระดับนานาชาติ โดยจนถึงปัจจุบัน ผศ.ดร.บูรภัทร์ มีบทความวิชาการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติระดับสูงที่ปรากฏในฐานข้อมูล Scopus มากกว่า 32 ฉบับ
 
 


วันที่ : 30 ส.ค. 2017





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว