อาจารย์คณะวิทย์ มช. คว้ารางวัล The Tony Whitten Conservation Prize จากผลงานการวิจัยหอยทากบกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

         

         ขอแสดงความยินดีกับ อ.ดร.ณัฐวดี นันตรัตน์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ ที่ได้รับรางวัล The Tony Whitten Conservation Prize ภายใต้องค์กร The Cambridge Conservation Initiative (CCI) จากผลงานการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพและความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของหอยทากบกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งผลงานการพัฒนาโปรแกรมพื้นฐานสำหรับการอนุรักษ์หอยทากบกในพื้นที่ภูเขาหินปูน โดยเฉพาะกลุ่มหอยที่มีฝาปิดเปลือกสกุล Cyclophorus Montfort, 1810 (หอยหอม/หอยภูเขา) โดยจะมีพิธีมอบรางวัลในเดือนธันวาคม 2562

สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล The Tony Whitten Conservation Prize จะได้รับเงินรางวัลมูลค่า 1000 ปอนด์สเตอร์ลิง อีกทั้งข้อมูลและรูปภาพของผู้ได้รับรางวัลจะได้ร่วมจัดแสดงในนิทรรศการที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.Tony Whitten ณ ตึก David Attenborough สำนักงาน Cambridge Conservation Initiative (CCI) ประเทศอังกฤษ ในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2562 นอกจากนี้จะมีการประกาศผู้ชนะรางวัลอย่างเป็นทางการเพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับรางวัลในวารสารระดับนานาชาติในเครือ Cambridge อย่างวารสาร Oryx-The International Journal of Conservation (Q1, Impact Factor 2018– 2.801) ฉบับเดือนมกราคม 2563 อีกด้วย

//

             รางวัล The Tony Whitten Conservation Prize เป็นรางวัลที่อยู่ภายใต้องค์กร The Cambridge Conservation Initiative (CCI) ซึ่งเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นภายใต้ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และองค์กรอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพชั้นนำของโลก ที่มุ่งเน้นและเห็นถึงความสำคัญในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในระดับสากล ทั้งด้านการวิจัย การศึกษานโยบาย รวมถึงการดำเนินการเพื่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ เพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพให้คงอยู่ต่อไป

รางวัล The Tony Whitten Conservation Prize เป็นรางวัลที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.Tony Whitten (1953-2017) นักอนุรักษ์และนักสัตวศาสตร์ชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาอาวุโสของ Fauna and Flora International เป็นผู้อำนวยการประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ทำงานกับธนาคารโลก (world bank) อีกทั้งยังได้ร่วมประพันธ์หนังสือหลายเล่มเกี่ยวกับนิเวศวิทยาของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งได้อุทิศชีวิตให้กับการอนุรักษ์และการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคเอเชีย

เพื่อเป็นเกียรติแก่ Dr.Tony Whitten และเป็นการสร้างแรงบันดาลใจสำหรับนักวิจัยรุ่นใหม่ที่มีผลงานดีเด่นในการศึกษาด้านการอนุรักษ์และด้านความหลากหลายทางชีวภาพจึงได้มีการจัดตั้งและมอบรางวัล The Tony Whitten Conservation Prize ขึ้นทุกๆ 2 ปี โดยทาง Cambridge Conservation Initiative (CCI) ได้เชิญผู้ที่สนใจสมัครเพื่อรับรางวัลนี้ โดยจะเปิดรับสมัครกลุ่มนักอนุรักษ์และนักวิจัยด้านความหลากหลายทางชีวภาพรุ่นใหม่จากเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

รางวัลนี้กำหนดให้ผู้ที่มีอายุไม่เกิน 35 ปี และมีส่วนร่วมในด้านการอนุรักษ์หรือการสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาคดังกล่าวสมัครเข้ารับการคัดเลือก รางวัลจะถูกกลั่นกรองโดยคณะกรรมการผ่านเครือข่ายพันธมิตรที่เป็นผู้นำในการวิจัยด้านการอนุรักษ์และการศึกษาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ โดยผู้คัดเลือกจะให้ความสำคัญเกี่ยวกับการทำงานด้านการศึกษาวิจัยสิ่งมีชีวิตระดับสปีชีส์และแหล่งที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะบริเวณที่ Dr.Tony Whitten หลงใหลมากที่สุด เช่น ถ้ำ ระบบนิเวศเขาหินปูน รวมถึงกลุ่มสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปลา ผู้สมัครควรมีสัญชาติ บรูไน กัมพูชา จีน อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย ติมอร์เลสเต หรือเวียดนาม

//

          สำหรับผลงานด้านการวิจัยของ อ.ดร. ณัฐวดี นันตรัตน์ นั้น อาจารย์ได้ทำการศึกษาเกี่ยวกับการวิเคราะห์ความหลากหลายทางชีวภาพและความสัมพันธ์ทางวิวัฒนาการของหอยทากบกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งได้ทำการพัฒนาโปรแกรมพื้นฐานสำหรับการอนุรักษ์หอยทากบกในพื้นที่ภูเขาหินปูน โดยเฉพาะกลุ่มหอยที่มีฝาปิดเปลือกสกุล Cyclophorus Montfort, 1810 (หอยหอม/หอยภูเขา) โดยใช้เป็นโมเดลในการศึกษาตั้งแต่ปี 2552

สำหรับหอยในสกุล Cyclophorus นั้น มีการกระจายทั่วไปในเขตกึ่งเขตร้อนและเขตร้อน โดยเฉพาะในเขตภูเขาหินปูนทั้งภูเขาลูกเล็ก-ลูกใหญ่ รวมถึงบนเกาะต่างๆ หอยในสกุลนี้ทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบในการดำรงชีวิตและวิวัฒนาการจากที่อาศัยอยู่ในน้ำไปสู่การอยู่อาศัยบนบก

ในด้านการใช้ประโยชน์หอยกลุ่มนี้เป็นอาหารของสัตว์หลายชนิดไม่ว่าจะเป็น หอยทากกินเนื้อ งูบางชนิด นก (รวมถึงนกเงือกกรามช้าง; Rhyticeros undulates) หนู ลิง รวมทั้งมนุษย์ โดยมีการบริโภคและจำหน่ายหอยชนิดนี้ทั้งในประเทศไทย ลาว และกัมพูชา

การศึกษาครั้งนี้สามารถตอบคำถามในด้านซิสเทมาติกส์มากมาย รวมถึงมีการศึกษาอนุกรมวิธานและตัวอย่างต้นแบบในหอยสกุล Cyclophorus ในพิพิธภัณฑ์ Natural History Museum of London จัดทำเป็นแคตตาล็อกและทำการตีพิมพ์ผลการศึกษาในวารสารระดับนานาชาติไม่ว่าจะเป็น ZooKeys, Molecular Phylogenetics and Evolution, PLOS One และ Scientific Reports โดยการศึกษาต่างๆ เกี่ยวกับหอยทากบกชนิดนี้ได้ทำการศึกษาร่วมกับหน่วยปฏิบัติการวิจัยซิสเทมาติคส์ของสัตว์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่นำทีมโดย ศ.ดร. สมศักดิ์ ปัญหา และได้เป็นส่วนหนึ่งของ FFI Limestone Conservation Project in Thailand and Myanmar ในการสร้างลิสท์รายชื่อของหอยทากบกในภูเขาหินปูนในพื้นที่ดังกล่าว

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก 
อ.ดร.ณัฐวดี นันตรัตน์
อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่


วันที่ : 22 ต.ค. 2019





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว