คณะวิทย์ มช. คว้ารางวัล “ความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน” ประจำปี 2564 สาขา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย มูลนิธิเพื่อสังคมไทย
คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับรางวัล “ความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน” ประจำปี 2564 ประเภท องค์กร สาขา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในโครงการหนึ่งล้านกล้าความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน โดย มูลนิธิเพื่อสังคมไทย โดยมีศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ พร้อมด้วยผู้บริหารคณะวิทยาศาสตร์เข้ารับรางวัล ในวันศุกร์ที่ 5 มีนาคม 2564 ณ หอประชุมกองทัพอากาศ กรุงเทพฯ
โครงการหนึ่งล้านกล้าความดีตอบแทนคุณแผ่นดิน เป็นโครงการที่ส่งเสริมให้คนไทยประกอบคุณงามความดี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม โดยมอบรางวัลให้กับบุคคลและองค์กรที่มีผลงานเชิงประจักษ์ในการเป็นผู้ประกอบคุณงามความดี มีโครงการและกิจกรรมตอบแทนคุณแผ่นดินในรูปแบบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและประเทศชาติ สำหรับรางวัลอันทรงเกียรติที่คณะวิทยาศาสตร์ได้รับในครั้งนี้ เกิดจากความมุ่งมั่นเสมอมาของคณะฯ ในการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม และความพยายามในการสร้างสรรค์งานวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่ตอบสนองความต้องการของชุมชนอย่างไม่หยุดยั้งมายาวนานกว่า 50 ปี
ศาสตราจารย์ ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี คณบดีคณะวิทยาศาสตร์ กล่าวภายหลังพิธีมอบรางวัลฯ ว่า คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นอกจากจะเป็นสถาบันการศึกษาที่มีภารกิจในการจัดการเรียนการสอนทางวิทยาศาสตร์ เพื่อผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพ และการวิจัยที่เป็นเลิศแล้ว อีกหนึ่งพันธกิจที่สำคัญของคณะฯ คือการส่งเสริม สนับสนุนการบริการวิชาการที่เกิดประโยชน์ต่อชุมชนและสังคม โดยคณะฯ ได้จัดโครงการเพื่อสังคมอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังมีการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยไปสู่ชุมชน อาทิ โครงการจัดการปัญหาหมอกควัน และบรรเทาสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่มีการคิดค้นหน้ากากความดันบวกเพื่อบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรในการจัดทำหน้ากากของประชาชน เพื่อประชาชน MASK 4 ALL ผลิตหน้ากากอนามัยแจกจ่ายให้กับแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชนที่มีความเสี่ยงต่อเชื้อโควิด-19 และฝุ่นควัน รวมกว่า 9 หมื่น 6 พันชิ้น
นอกจากนี้ในด้านการวิจัย ทีมวิจัยของคณะฯ ยังได้ค้นพบเห็ดทรัฟเฟิลครั้งแรกในประเทศไทย รวมทั้งเห็ดชนิดใหม่ และพืชชนิดใหม่ของโลก เพื่อต่อยอดทางเศรษฐกิจ การแพทย์ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังมีโครงการธนาคารเมล็ดพันธุ์ไม้ยืนต้นโลก-ประเทศไทย การสร้างเรือนเพาะชำกล้าไม้ท้องถิ่น และการสร้างความตระหนักแก่ชุมชนเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการยกระดับอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้งในประเทศไทย / การคิดค้นนวัตกรรมการผลิตพลาสติกชีวภาพสำหรับใช้ทางการแพทย์ / นวัตกรรม Lanna OCR Application สกัดตัวอักษรล้านนาบนใบลาน ตลอดจนโครงการสืบทอดผ้าลายจกโหล่งลี้ มรดกสายเมือง จังหวัดลำพูน และการคิดค้นนวัตกรรม Cool Air Plasma Jet เทคโนโลยีพลาสมาเพื่อรักษาบาดแผล เป็นต้น
คณะวิทยาศาสตร์ จะยึดมั่นในการผลิตบัณฑิตวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ สร้างสรรค์งานวิจัยที่เป็นเลิศ และตระหนักถึงความสำคัญของการบริการวิชาการที่เกิดประโยชน์แก่สังคม เพื่อสร้างรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติอย่างยั่งยืนต่อไป
วันที่ : 5 มี.ค. 2021