นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 สตรีไทย ผู้ได้รับทุนเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ปี 2564 ในฐานะสตรีที่มีผลงานโดดเด่นสร้างประโยชน์ด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อม จากลอรีอัล ประเทศไทย
นักวิจัยคณะวิทย์ มช. ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 สตรีไทย ผู้ได้รับทุนเพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์ ปี 2564 ในฐานะสตรีที่มีผลงานโดดเด่นสร้างประโยชน์ด้านการแพทย์และสิ่งแวดล้อม จากลอรีอัล ประเทศไทย

 

            วันที่ 17 ธันวาคม 2564 - ลอรีอัล ประเทศไทย ประกาศรายชื่อ 5 นักวิจัยสตรีผู้มีผลงานวิจัยที่โดดเด่นเป็นประโยชน์ในการพัฒนาชุมชน สังคม สิ่งแวดล้อม และประเทศชาติ ผู้ได้รับทุนในโครงการทุนวิจัย ลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” (For Women in Science) ประจำปี 2564

รองศาสตราจารย์ ดร. นัดดา เวชชากุล ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 5 สตรีไทย ที่ได้รับทุนวิจัยดังกล่าว ในสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ จากงานวิจัยหัวข้อ “การพัฒนาวัสดุนาโนโลหะออกไซด์ เพื่อเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับการย่อยสลายสารประกอบอินทรีย์ที่เป็นมลพิษทางน้ำ”

รองศาสตราจารย์ ดร. นัดดา เวชชากุล กล่าวว่า “อุตสาหกรรมฟอกย้อมเป็นอุตสาหกรรมที่ทำให้เกิดน้ำทิ้งจากสีย้อมในกระบวนการผลิตเป็นปริมาณมาก หากไม่มีระบบการบำบัดน้ำทิ้งที่ดีจะนำไปสู่การปนเปื้อนสีย้อมในน้ำทิ้ง เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียได้

โดยปกติแล้วอุตสาหกรรมฟอกย้อมจะมีการบำบัดน้ำทิ้งก่อนปล่อยออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อเป็นการป้องกันการตกค้างของสีย้อมในน้ำทิ้ง ซึ่งเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการบำบัดน้ำเสียจากการฟอกย้อม ได้แก่ การตกตะกอนด้วยสารเคมี กระบวนการบำบัดทางชีวภาพ การดูดซับด้วยถ่านกัมมันต์ การออกซิไดซ์ด้วยโอโซน เทคโนโลยีเยื่อแผ่น แต่กระบวนการเหล่านี้มีข้อจำกัด ทั้งในแง่ของระยะเวลา ต้นทุน ขั้นตอนการกำจัดผลิตภัณฑ์สุดท้ายจากการบำบัด

ด้วยเหตุนี้ จึงสนใจศึกษากระบวนการเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงแบบวิวิธพันธ์ ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพสูงในการย่อยสลายสีย้อมในอุตสาหกรรมฟอกย้อมโดยไม่ก่อให้เกิดมลพิษ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่สะอาดสำหรับการกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยา และยังเป็นวิธีการย่อยสลายสีย้อมที่สามารถนำตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงกลับมาใช้ซ้ำได้

ตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการย่อยสลายสีย้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นในงานวิจัยจึงมุ่งเน้นการออกแบบและพัฒนาตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงนาโนโลหะออกไซด์ เพื่อเพิ่มอัตราการเร่งปฏิกิริยาการย่อยสลายสีย้อมในน้ำ ซึ่งงานวิจัยนี้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเทคโนโลยีวัสดุเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านวัสดุเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงสำหรับลดมลพิษทางน้ำที่มาจากการปนเปื้อนของสีย้อมในน้ำ

โดยผลงานที่เกิดขึ้นประกอบด้วยต้นแบบตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงระดับห้องปฏิบัติการและบทความวิจัย สามารถนำไปต่อยอดเพื่อผลิตตัวเร่งปฏิกิริยาด้วยแสงที่มีประสิทธิภาพสูงสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในการบำบัดน้ำเสีย โดยการลดสารสีย้อมตกค้างที่ถูกปล่อยในน้ำทิ้งและช่วยส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมทางน้ำอย่างยั่งยืนได้ในที่สุด”

ทั้งนี้ โครงการทุนวิจัยลอรีอัล “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” หรือ For Women in Science ริเริ่มขึ้นในปี 2540 โดย มูลนิธิลอรีอัล ด้วยความร่วมมือจากยูเนสโก แต่ละปีได้สนับสนุนนักวิจัยสตรีรุ่นใหม่มากกว่า 250 ท่าน ในโครงการระดับประเทศและระดับภูมิภาคทั่วโลก และได้มอบทุนเกียรติยศนานาชาติแก่นักวิจัยสตรีระดับ Laureates ไปแล้วกว่า 100 ท่าน โดยในประเทศไทย โครงการทุนวิจัยลอรีอัล ประเทศไทย “เพื่อสตรีในงานวิทยาศาสตร์” มอบทุนวิจัยทุนละ 250,000 บาท ให้กับนักวิจัยสตรีที่มีอายุระหว่าง 25 – 40 ปี ใน 2 สาขา ได้แก่ สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพ และสาขาวิทยาศาสตร์กายภาพ ลอรีอัล ประเทศไทย ได้ดำเนินงานโครงการมาเป็นปีที่ 19 โดยมีนักวิจัยสตรีไทยที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้รวมแล้วทั้งสิ้น 76 ท่าน จาก 20 สถาบัน
 

 

ประวัตินักวิจัย

                   รองศาสตราจารย์ ดร. นัดดา เวชชากุล สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาฟิสิกส์ ในปี พ.ศ. 2545 จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และระดับปริญญาโท วิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวัสดุศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2547 หลังจากนั้นสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอก ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวัสดุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปี พ.ศ. 2550

ประวัติการทำงาน
พ.ศ. 2563 – ปัจจุบัน รองศาสตราจารย์      ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. 2556 – 2563   ผู้ช่วยศาสตราจารย์    ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ศ. 2551 – 2556   อาจารย์                    ภาควิชาฟิสิกส์และวัสดุศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ประสบการณ์การวิจัย
รองศาสตราจารย์ ดร. นัดดา เวชชากุล มีความเชี่ยวชาญด้านวัสดุศาสตร์ อีกทั้งยังมีความสนใจด้านการพัฒนาสารกึ่งตัวนำชนิดใหม่สำหรับบำบัดน้ำ การแยกน้ำด้วยไฟฟ้าเคมีทางแสง รวมถึงการแยกน้ำมันและน้ำ
 

 


วันที่ : 10 ม.ค. 2022





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว