Smart Bee คณะวิทยาศาสตร์ จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ หัวข้อ การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างครบวงจร ปีที่ 3
Smart Bee คณะวิทยาศาสตร์ จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ หัวข้อ การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างครบวงจร  ปีที่ 3

          โครงการ Smart Bee คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมผลักดันศักยภาพเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง ในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง จัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ หัวข้อ การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างครบวงจร  ปีที่ 3

รองศาสตราจารย์ ดร.เกศรินทร์ พิมรักษา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์ เป็นประธานเปิดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการนานาชาติ หัวข้อ การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างครบวงจร  ปีที่ 3 โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.เทิด ดิษยธนูวัฒน์ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประธานคณะกรรมการจัดงาน กล่าวรายงานความเป็นมาของการจัดงาน ในวันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567 ณ ห้องประชุม โรงแรมอินเตอร์คอนทิเนนตัล เชียงใหม่ 

การสัมมนาในครั้งนี้ จัดโดย โครงการ Smart Bee คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (ก่อตั้งโดย รศ.ดร.ภาณุวรรณ จันทวรรณกูร) ภายใต้การสนับสนุนจากกองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง (Lancang-Mekong Cooperation Special Fund) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางปฏิบัติการค้าข้ามพรมแดนระหว่างภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างและข้อมูลทางเศรษฐศาสตร์ สำหรับการจัดการเลี้ยงผึ้ง รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากผึ้งในระดับภูมิภาค โดยมีเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งไทย และตัวแทน อาจารย์ นักวิชาการ และผู้ประกอบการผึ้งจากประเทศในแถบลุ่มน้ำโขง เข้าร่วมงาน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของวงการผึ้งไทย และประเทศเพื่อนบ้าน 

ภายในงานมีการบรรยายให้ความรู้เรื่องการยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งจากผู้เชี่ยวชาญนานาประเทศ ในหลายหัวข้อ อาทิ Apimondia; International Federation of Beekeepers’ Associations and the new challenge for world beekeepers โดย Prof. Dr. Peter Kozmus, Vice president of world Apimondia, Republic of Slovenia / การออกแบบตราสินค้าอย่างไรให้โดนใจและเป็นเอกลักษณ์ / ถอดบทเรียนการเป็นผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติ และหัวข้ออื่นๆ ที่น่าสนใจอีกมากมาย ตลอดจนการประชุมเครือข่ายนักวิจัยและผู้ประกอบการผู้เลี้ยงผึ้ง จากทั้ง 6 ประเทศ และตัดสินรางวัลน้ำผึ้งแม่โขง-ล้านช้าง 2024 รวมถึงการแลกเปลี่ยนข้อมูลและตอบข้อซักถาม: การพัฒนาผลิต จากประเทศ ไทย จีน ลาว เวียดนาม พม่า กัมพูชา โดยตัวแทนผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างทั้ง 6 ประเทศ นอกจากนี้ยังมีการออกพื้นที่เยียมชมและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับฟาร์มผึ้งและเกษตรผสมผสาน รวมทั้งการศึกษาความหลากหลายของแมลงผสมเกสร ในพื้นที่ต่างๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ 

การเลี้ยงผึ้งพันธุ์ เป็นอุตสาหกรรมแมลงเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลก ในประเทศไทยพบว่ามีการเลี้ยงผึ้งพันธุ์มากที่สุดในภาคเหนือของประเทศ รายได้จากการส่งออกน้ำผึ้งโดยเฉพาะน้ำผึ้งลำไยสร้างมูลค่าการส่งออกหลายล้านบาทต่อปีและมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์อื่นๆ จากผึ้ง ได้แก่ นมผึ้ง เกสรผึ้งและพรอพอลิส ที่มีตลาดที่ยั่งยืนทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม ที่มีคุณสมบัติในการยับยั้งเชื้อจุลินทรีย์ต่างๆ และสามารถนำไปใช้แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และเวชสำอางได้
..................................................................
 
              การส่งเสริมและยกระดับองค์ความรู้ด้านการเลี้ยงผึ้งจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมการเลี้ยงผึ้ง ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันให้กับสินค้าน้ำผึ้งและผลิตภัณฑ์จากผึ้งในตลาดโลกได้ ด้วยความร่วมมือด้านการค้าระหว่างประเทศสมาชิกของภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างกับประเทศจีน โดยเฉพาะโครงสร้างที่จัดตั้งขึ้นใน One Belt One Road และสถานการณ์ปัจจุบันนี้ภาคการเกษตรควรได้รับการส่งเสริมและร่วมมือกันทั่วทั้งภูมิภาคเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและผลิตวัตถุดิบสำหรับการบริโภคของมนุษย์อย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตามข้อมูลและความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อยกระดับเลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างยังมีอยู่ไม่เพียงพอ และการถ่ายทอดความรู้ยังคงมีอยู่อย่างจำกัด ดังนั้นโครงการนี้จะช่วยยกระดับและส่งเสริมการเลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างอย่างเป็นระบบ เพื่อก้าวสู่มาตรฐานสากล และอนุรักษ์พันธุ์ผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้าง โดยมีการดำเนินการ ดังนี้

(1) ดำเนินการวิจัยร่วมกันระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างในการสำรวจสุขภาพของผึ้ง
(2) ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้ง/อุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งและนักวิทยาศาสตร์เพื่อติดตามสุขภาพผึ้ง การจัดการการเลี้ยงผึ้งอย่างเป็นระบบสำหรับการผลิตภัณฑ์จากผึ้งที่มีคุณภาพเพื่อการบริโภคและเพื่อการค้า
(3) การแบ่งปันนโยบายทางการค้าผลิตภัณฑ์ผึ้งที่มีคุณภาพ เช่น น้ำผึ้ง นอกจากนี้การวิเคราะห์ข้อมูล (Big data analyze) ขององค์ความรู้ที่เกิดจากดำเนินโครงการ เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลเหล่านี้กับลักษณะทางสิ่งแวดล้อม จะทำให้เกิดภาพแบบองค์รวมเพื่อช่วยให้เห็นภาพใหญ่ในการอนุรักษ์ผึ้งเอเชีย

โครงการ การยกระดับการเลี้ยงผึ้งของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างครบวงจรและการสำรวจสุขภาพของแมลงผสมเกสรเพื่อความมั่นคงทางอาหาร โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร เทิด ดิษยธนูวัฒน์ เป็นหัวหน้าโครงการ ซึ่งได้มีการสำรวจสุขภาพผึ้งเบื้องต้นในประเทศเวียดนาม พม่า ลาว และไทยแล้วนั้น แต่อย่างไรก็ตามวิธีการและการจัดการการเลี้ยงผึ้งในภูมิภาคแม่โขง-ล้านช้างยังไม่สอดคล้องในทิศทางเดียวกันทั้งภูมิภาคและการผลิตผลิตภัณฑ์ผึ้งยังไม่มีการพัฒนาตามมาตรฐานสากล ดังนั้นความแตกต่างของคุณภาพและความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์จึงไม่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล โครงการนี้จะช่วยให้การเสริมสร้างศักยภาพและการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในการเลี้ยงผึ้งและผลิตภัณฑ์ผึ้ง ตลอดจนผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพสูงสำหรับการค้าข้ามพรมแดน


 


วันที่ : 1 พ.ย. 2024





ค้นหาข่าว
หน่วยงาน
คีย์เวิร์ด
ค้นหาจาก
หมวดหมู่ข่าว